มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดลในพระราชูปถัมภ์ฯ จับมือมหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน “Human Interaction for Systematic Innovation” ผนึกกำลังนวัตกร บริษัทชั้นนำ และนักวิจัย ระดมทุนพัฒนา “โรงงานยาที่มีชีวิต” ผลิตยาจากเซลล์ มุ่งรักษามะเร็งด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย หวังลดการพึ่งพายาจากต่างประเทศ พร้อมยกระดับเศรษฐกิจไทยด้วยงานวิจัยและเทคโนโลยี
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา – มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดลในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน “Human Interaction for Systematic Innovation” ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่รวมตัวนวัตกรระดับโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการ และนักวิจัยทางการแพทย์ เพื่อระดมทุนและความร่วมมือในการพัฒนา “โรงงานยาที่มีชีวิต” หรือ MU-Bio Plant โดยมีเป้าหมายในการผลิตยาจากเซลล์ที่มีชีวิต (Living Drug) ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม Advanced Therapy Medicinal Products (ATMP) เพื่อรักษาโรคมะเร็งและโรคร้ายแรงต่างๆ
ผนึกกำลัง “Design Thinking” สู่ “Systematic Innovation”
ภายในงานได้รับเกียรติจาก Prof. Steven Eppinger ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและกระบวนการคิด (Design Thinking) จาก Massachusetts Institute of Technology, Sloan School of Management มาบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Systematic Innovation through Human-Centered Design” โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการผสานกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เข้ากับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อสร้างสรรค์โซลูชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วยได้อย่างแท้จริง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้ซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างใกล้ชิด โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา รักธรรม รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ
“โรงงานยาที่มีชีวิต” Game Changer วงการแพทย์ไทย
ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดลในพระราชูปถัมภ์ กล่าวถึงความสำคัญของ “โรงงานยาที่มีชีวิต” ว่า “โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีก้าวกระโดด มหาวิทยาลัยมหิดลมีความเข้มแข็งด้านงานวิจัยและนวัตกรรม แต่การจะสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืน ต้องเป็นไปอย่างเป็นระบบ (Systematic) เพื่อให้เกิดการต่อยอดและนำไปใช้ได้จริง ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และสร้างผลกระทบในโลกแห่งความเป็นจริง (Real World Impact)”
“โรงงานยาที่มีชีวิต” หรือ MU-Bio Plant จะเป็นแหล่งผลิตยาจากเซลล์ที่มีชีวิต (Living Drug) ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม ATMP โดยมุ่งเน้นการรักษาโรคมะเร็งด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพายาจากต่างประเทศ ลดต้นทุนการรักษา และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยาสำหรับผู้ป่วยชาวไทย
“ยาจากเซลล์ที่มีชีวิต” ความหวังใหม่ผู้ป่วยมะเร็ง
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประเทศไทย ผู้ป่วยจำนวนมากต้องเผชิญกับผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด รวมถึงปัญหาการดื้อยา การรักษาด้วยยาจากเซลล์ที่มีชีวิต จึงเป็นความหวังใหม่ของผู้ป่วยมะเร็ง
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุรเดช หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “การวิจัยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้รักษามะเร็งด้วยเซลล์และยีน (CAR T-Cell) เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยที่ทีมแพทย์และอาจารย์นักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลได้เริ่มวิจัยมาตั้งแต่ปี 2567 จนสำเร็จ และสามารถนำไปใช้ได้จริงในผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเริ่มโครงการนำร่องในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งโรคเลือดมัยอิโลมา และยังนำไปใช้ในการรักษาโรค SLE ซึ่งเป็นผลงานของคนไทย 100% และได้รับการจดสิทธิบัตรครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ”
“กองทุนมูลนิธิมหิดลเพื่อความยั่งยืน” ขับเคลื่อนอนาคตการแพทย์ไทย
มหาวิทยาลัยมหิดลได้ก่อตั้ง “กองทุนมูลนิธิมหิดลเพื่อความยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีพันธกิจในการสนับสนุนนักวิจัยและบุคลากรทางการแพทย์ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อป้องกัน รักษาโรค ส่งเสริมสุขภาพ ขยายการเข้าถึงการรักษา และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ครอบคลุมการพัฒนายา โครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา
รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งเน้นการต่อยอดการศึกษาและวิจัยไปสู่ผลสำเร็จในโลกแห่งความเป็นจริง (Real World Impact) ในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science) และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแบบองค์รวม (Holistic Well-being) โดยบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในอนาคตจะต้องมุ่งที่การสร้างผลกระทบเชิงบวกในโลกความจริง บนแนวทางการนำความรู้มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันเรื่องงานวิจัยยา ‘โรงงานยาที่มีชีวิต’ และ ‘ยาที่มีชีวิต’ จะเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคตของการรักษามะเร็งและเป็น Game Changer ที่จะพลิกโฉมวงการแพทย์ไทย”
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพลิกโฉมวงการแพทย์ไทย
การจัดงาน “Human Interaction for Systematic Innovation” นับเป็นก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อระดมทุนและพัฒนา “โรงงานยาที่มีชีวิต” ผลิตยาจากเซลล์รักษามะเร็ง โดยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ลดการพึ่งพายาจากต่างประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ผู้สนใจสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนโครงการนี้ได้ที่ มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดลในพระราชูปถัมภ์ฯ โทร. 082-526-5501 หรือ Facebook: มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล และ Line: @mufoundation
–L’Oréal จับมือ IBM พัฒนา AI ปฏิวัติวงการเครื่องสำอาง สู่ความงามที่ยั่งยืน