ไมเกรน (Migraine) คืออาการผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมอง ส่งผลให้สารเคมีในสมองหลั่งผิดปกติ ผลลัพธ์คือหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองและเยื่อหุ้มสมองขยายตัวจนปวดศีรษะแบบตุบๆต่อเนื่อง มักจะปวดศีรษะข้างเดียว ซึ่งต่างจากอาการปวดหัวทั่วไปที่เกิดจากความเครียด (Tension Headache) ที่มีอาการปวดขมับ 2 ข้าง เหมือนมีอะไรมารัดที่ศีรษะ
ในโลกยุคปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการใช้ชีวิตอย่างสุขสบายและมีอิสระกลายเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับคนทุกเจเนอเรชัน ไหนจะความเครียดจากงาน ปัญหาเศรษฐกิจ และภาระหน้าที่ในการดูแลครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่ม “Sandwich Generation” หรือวัยทำงานที่ต้องเป็นเดอะแบกของครอบครัว คอยเลี้ยงดูทั้งพ่อแม่วัยชราและลูกวัยเรียน วันนี้ นพ.ภีมณพัชญ์ ธนชาญวิศิษฐ์ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทวิทยา ศูนย์สมองและระบบประสาท รพ.วิมุต จะมาไขข้อสงสัยเรื่อง “โรคไมเกรน” พร้อมแนะวิธีป้องกันและการรักษา เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและรับมือโรคนี้ได้อย่างถูกต้อง
มัดรวมสัญญาณเสี่ยง “ไมเกรน”
ไมเกรนมักเป็นการปวดหัวตุบ ๆ ข้างเดียว มีอาการปวดปานกลางถึงรุนแรงต่อเนื่องแต่มักไม่เกิน 3 วัน อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตาไม่สู้แสง หรือเห็นแสงแวบ ๆ ในตาก่อนปวด ไมเกรนมักพบในวัยรุ่น วัยทำงาน และวัยเจริญพันธุ์ เพราะเป็นวัยที่มีปัจจัยกระตุ้นมากที่สุด เช่น ความเครียด ไลฟ์สไตล์ หรือฮอร์โมน โดยไมเกรนจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า แต่พบได้น้อยในเด็กและกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป นพ.ภีมณพัชญ์ ธนชาญวิศิษฐ์ เล่าต่อว่า “เมื่อเป็นไมเกรนแล้ว ปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบของแต่ละคนจะต่างกันไปแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มปัจจัยภายใน ได้แก่ เพศหญิง, ความเครียด, การอดนอน และการออกกำลังกายหักโหม อีกกลุ่มคือปัจจัยภายนอก เช่น ความร้อน, แสงแดด, ควันบุหรี่, กลิ่นน้ำหอม, กลิ่นดอกไม้ และอาหารบางชนิด”
สำหรับความเชื่อที่ว่าคนเป็นไมเกรนเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดในสมองนั้น นพ.ภีมณพัชญ์ อธิบายว่า “ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าไมเกรนทำให้หลอดเลือดในสมองตีบหรือเส้นเลือดในสมองแตก แต่อาจเกิดจากพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะยาไมเกรนบางชนิดทำให้หลอดเลือดหดตัวแล้วไม่คลายออกซึ่งทำให้เป็นโรคหลอดเลือดในสมองตีบจากยาได้ ส่วนอาการเส้นเลือดในสมองแตก มีวิจัยในปี 2013 ที่บอกว่าการปวดไมเกรนอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยง แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองแตกแต่อย่างใด”
รู้ปัจจัยเสี่ยง “ไมเกรน” ก็ป้องกัน-รักษาได้ไม่ยาก
ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายโรคไมเกรน แพทย์จะช่วยหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง เบื้องต้นสามารถป้องกันไมเกรนกำเริบด้วยการเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น เลี่ยงแสงแดดและความร้อน ถ้าออกไปข้างนอกก็สวมเสื้อให้มิดชิด ใส่แว่นกันแดด และกางร่ม หรือใครที่ปวดหัวไมเกรนจากควันบุหรี่ก็ต้องอยู่ให้ห่างผู้สูบ เมื่อไมเกรนกำเริบควรอยู่ในที่เงียบ เย็น และแสงน้อย การประคบศีรษะด้วยความเย็นก็ช่วยลดอาการปวดได้ นพ.ภีมณพัชญ์ ธนชาญวิศิษฐ์ เล่าถึงการรักษาว่า “แพทย์อาจจ่ายยาป้องกันหรือควบคุมอาการปวด โดยพิจารณาให้คนที่มีอาการปวดเรื้อรัง บางคนแพทย์อาจจ่ายยากลุ่มกันชัก โรคหัวใจ ความดัน ยานอนหลับ หรือยากลุ่มซึมเศร้าบางตัวที่ช่วยป้องกันไมเกรนได้ นอกจากนี้ ปัจจุบันเรามียาป้องกันไมเกรนแบบฉีดเข้าผิวหนัง ซึ่งตัวยาจะช่วยยับยั้งสาร CGRP ที่เป็นต้นเหตุของอาการปวดหัวไมเกรน เป็นทางเลือกลดความรุนแรงและความถี่ในการปวดได้ถึงร้อยละ 50 ที่สำคัญคือสะดวกฉีด 1 เข็ม อยู่ได้นานถึง 1 เดือน”
“ใครที่มีอาการปวดหัวเรื้อรัง แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการให้แน่ชัด ไม่แนะนำให้ไปซื้อยากินเอง เพราะยาหลายตัวอาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ และการปวดศีรษะก็ไม่ได้มีแค่ภาวะไมเกรนอย่างเดียว จึงจำเป็นต้องหาสาเหตุและสิ่งที่กระตุ้นอาการของแต่ละคนเพื่อการรักษาอย่างเหมาะสม ยุคนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะกลุ่ม Sandwich Generation ที่แบกภาระหนัก แต่ทุกปัญหาก็ย่อมมีทางแก้ เหมือนโรคไมเกรนที่หากดูแลให้ดี พบแพทย์ ทานยา และรู้เท่าทันอาการ อาการก็จะค่อยๆ ดีขึ้น ตอนนี้หมดยุคของการ ‘ไม่ไหวบอกไหว’ ให้เปลี่ยนเป็น ‘ไม่ไหวไปบอกหมอแทน’ จะดีที่สุด” นพ.ภีมณพัชญ์ ธนชาญวิศิษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้ที่สนใจปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลวิมุต สามารถติดต่อได้ที่ ชั้น 6 ศูนย์สมองและระบบประสาท หรือโทรนัดหมาย 02-079-0068 เวลา 08.00-17.00 น. หรือใช้บริการ Telemedicine ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่าน ViMUT App คลิก https://bit.ly/372qexX
–ประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม FNM 2024 เวทีรวมนักวิจัยและแพทย์ระดับโลก