สภากาชาดไทย จับมือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดตัวแอปพลิเคชัน “Check PD” นวัตกรรมตรวจหาความเสี่ยงโรคพาร์กินสันด้วยตนเอง ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ ชูจุดเด่นความแม่นยำสูงถึง 90% หวังช่วยคนไทยเข้าถึงการประเมินความเสี่ยงได้ง่าย ลดอัตราการเกิดโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย
เตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย เผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบมากในผู้สูงอายุ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการคาดการณ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่คาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยพาร์กินสันเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ภายในปี 2040
“ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคพาร์กินสัน นอกจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังรวมถึงพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิต และสภาพแวดล้อม อีกทั้งการวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้นยังทำได้ยาก เนื่องจากอาการแสดงยังไม่ชัดเจน ประกอบกับการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระบบประสาท ยิ่งทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยได้ยากขึ้น ” คุณเตช กล่าว
เลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยเมื่อมีอาการค่อนข้างมาก หรืออยู่ในระยะกลางของโรค ส่งผลให้การรักษามีความซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายสูง และอาจนำไปสู่ภาวะทุพพลภาพ ลดทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลง ดังนั้น การตรวจพบความเสี่ยงตั้งแต่ระยะแรก จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนการรักษาและป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า โรคพาร์กินสันมีระยะเวลาการดำเนินโรคค่อนข้างนาน โดยเฉลี่ย 10-20 ปี ผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการชัดเจนในระยะเริ่มต้น แต่อาจมีสัญญาณเตือน เช่น ท้องผูกเรื้อรัง นอนละเมอ ซึ่งมักถูกมองข้าม ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
“อาการเด่นชัดของโรคพาร์กินสัน คือ อาการสั่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจเคลื่อนไหวลำบาก จำเป็นต้องมีผู้ดูแล ดังนั้น การตรวจพบความเสี่ยงตั้งแต่เนิ่นๆ จึงช่วยให้ผู้ป่วยสามารถป้องกัน หรือชะลอการลุกลามของโรคได้” ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าว
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ เสริมว่า ปัจจุบันพบผู้ป่วยพาร์กินสันในกลุ่มคนอายุน้อยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ดังนั้น การพัฒนาแอปพลิเคชัน “Check PD” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้คนไทยสามารถประเมินความเสี่ยงโรคพาร์กินสันได้ด้วยตนเอง ผ่านแบบประเมิน 20 ข้อ ใช้เวลาเพียง 25 นาที ครอบคลุมทั้งการตอบคำถาม การทดสอบการขยับนิ้ว การทดสอบอาการสั่น การทดสอบการทรงตัว และการทดสอบการออกเสียง โดยผลการประเมินมีความแม่นยำสูงถึง 90%
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า แอปพลิเคชัน “Check PD” เป็นนวัตกรรมที่ผสานเทคโนโลยีดิจิทัล การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพ พัฒนาระบบบริการที่ทันสมัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
“ความร่วมมือระหว่างสภากาชาดไทยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคพาร์กินสัน” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว
ด้าน โต๋ ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร ศิลปินนักเปียโนชื่อดัง ผู้ที่เคยแต่งและร้องเพลงพาร์กินสัน เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน กล่าวว่า โรคพาร์กินสันสามารถตรวจเช็กหาความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ล่วงหน้า หากพบว่ามีความเสี่ยง สามารถป้องกันและรักษาได้ ซึ่งทางสภากาชาดไทยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ได้ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมา ที่จะเป็นประโยชน์กับการดูแลสุขภาพของทุกคน จึงอยากขอเชิญชวนทุกคนโหลดแอปพลิเคชันนี้และตรวจเช็กความเสี่ยงของตัวเอง หากพบว่ามีความเสี่ยงจะได้เข้าสู่กระบวนการตรวจรักษา เพราะโรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่หากตรวจพบไวก็จะรักษาได้ไว
เพื่อให้แอปพลิเคชัน Check PD เป็นแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องในการคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคพาร์กินสัน อีกทั้งยังเป็นการร่วมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมลงพื้นที่คัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสันทั่วประเทศ และส่งต่อระบบสาธารณสุขเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง สภากาชาดไทย ยังได้เชิญชวนร่วมกันบริจาค ในโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เพื่อสำรวจประชาชนที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน หรือร่วมบริจาคเงิน 76 บาท ภายใต้แคมเปญ “พาร์พบแพทย์” เพื่อร่วมค้นหา คัดกรอง ช่วยเหลือผู้ป่วยพาร์กินสันกว่า 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งการบริจาคสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ผู้สนใจสามารถร่วมสนับสนุนโครงการได้โดยบริจาคเงินผ่านบัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย ชื่อบัญชี สภากาชาดไทย สำนักงานจัดหารายได้ เลขที่บัญชี 045-2-62588-8 ภายหลังโอนเงินบริจาคแล้วสามารถส่งหลักฐานการโอนเงิน แจ้งชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และหมายเลขบัตรประชาชน (เพื่อใช้ในการยื่นลดหย่อนภาษี) ระบุว่า “ค้นหาพาร์กินสัน พาผู้ป่วยพบแพทย์” ส่งเอกสารมาที่ Email: donation@redcross.or.th เพื่อที่ทางสภากาชาดไทยจะได้ดำเนินการจัดส่งใบเสร็จรับเงินสำหรับการยื่นลดหย่อนภาษีต่อไป
–True พลิกโฉมสาธารณสุขไทย สู่ “รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่” ลดอัตราตายจากโรคหลอดเลือดสมอง