กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ “ดีพร้อม” จับมือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จัดโครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SHAP ต่อเนื่องเป็นระยะที่ 3 สนับสนุนการสร้างองค์กรแห่งความสุข Happy Workplace ในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเพิ่มผลิตภาพโดยรวมให้เติบโตขึ้นทุกมิติ ประกาศผลผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลวิสาหกิจต้นแบบ 37 ราย โชว์ผลสำเร็จการดำเนินโครงการ SHAP พบค่าความสุขเพิ่มขึ้นทุกมิติ ร้อยละ 64.37 คิดเป็นเงินได้มูลค่ารวมกว่า 64 ล้านบาท
ภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ “ดีพร้อม” กล่าวว่า ปัจจุบัน SMEs ไทยมีจำนวนมากถึงร้อยละ 99.57 ของวิสาหกิจทั้งประเทศ มีการจ้างงานกว่า 17,536,336 คน คิดเป็นร้อยละ 71.86 และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของSMEs มีมูลค่า 16,178,719 ล้านบาท คิดเป็นร้อย 34.6 ของ GDP ดังนั้น SMEs จึงมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในทุกมิติ ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างเสริมผู้ประกอบการให้คำนึงถึงความสำคัญของการทำงานอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีจะส่งผลดีโดยรวมต่อการเพิ่มผลิตภาพ ทั้งในด้านคุณภาพสินค้า การบริการ การลดความสูญเสียต่างๆ และยังทำให้ต้นทุนลดลง สามารถขนส่งสินค้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ตามกำหนด และสร้างความปลอดภัยในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้ง ยังรักษาพนักงานคุณภาพ ลดจำนวนการลาออก เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
–ไปรษณีย์ไทย แง้มบิ๊กเซอร์ไพรส์ 4 โซลูชันพลิกโฉมบริการคนไทย ปี 66 ด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ
สำหรับโครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SHAP เป็นความร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. นำหลักการ Happy Workplace การสร้างผลิตภาพที่ยั่งยืน และเป็นองค์กรที่มีความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2565 นี้ มีผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลวิสาหกิจต้นแบบ โครงการ SHAP ประจำปี 2564 ภายใต้โครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จากกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้น 37 ราย
ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้จัดขึ้นเป็นระยะที่ 3 โดยจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยปัจจุบันมี SMEs เข้าร่วมโครงการแล้ว 80 แห่ง คณะทำงานสร้างสุของค์กร จำนวน 1,132 คน และมีกิจกรรมสร้างสุขแล้วทั้งสิ้น 1,152 กิจกรรม
ในส่วนผลสำเร็จของโครงการ สามารถสร้างความสุขให้กับบุคลากรของ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการได้ อาทิ สามารถเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 107 คน สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 1,457,100 บาท และทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้ถึง 53 คน ลดค่าใช้จ่ายได้ 958,600 บาท ส่วนกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาที่มีพนักงานวิสาหกิจเข้าร่วม 4,317 คน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนถึง 8.55 ล้านบาท
จากการที่บุคลากร SMEs ได้ทำการ ลด ละ เลิก ในสิ่งไม่จำเป็นดังกล่าว ส่งผลให้สุขภาพของผู้เข้าร่วมโครงการดีขึ้น มีค่า BMI ดีขึ้น 1,448 คน นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้มีการปลูกผักปลอดสาร ซึ่งสามารถปลูกผักได้จำนวน 8,668 กิโลกรัม อีกทั้ง ยังดำเนินการสร้างสวัสดิการต่างๆ ในกิจกรรม Happy Work life รวมมูลค่า 10,823,643 บาท กิจกรรมช่วยเหลือสังคม Happy Society มูลค่า 8,173,450 บาท พนักงานบริจาคโลหิต จำนวน 1,313 คน ได้โลหิตรวมกว่า 459,503 ซีซี. และส่งเสริมการออมด้วยกิจกรรม Happy money ที่ทำให้พนักงานสามารถออมเงินได้ถึง 21.2 ล้านบาท
ท้ายสุดจากการรวบรวมข้อมูลและร่วมประเมินผล พบว่าค่าความสุข (HAPPINOMETER) ใน 8 มิติ ก่อนการดำเนินโครงการ มีค่าความสุขอยู่ที่ร้อยละ 59.14 และหลังจากการดำเนินโครงการ ค่าเฉลี่ยความสุขเพิ่มมากขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 64.37 เพิ่มขึ้นเท่ากับร้อยละ 5.23 ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาผลิตภาพในมิติด้านคุณภาพ ต้นทุน การส่งมอบ ความปลอดภัยในการทำงาน ขวัญและกำลังใจของพนักงาน การจัดการสิ่งแวดล้อมจริยธรรมในการทำงาน โดยมีผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นมูลค่ารวมกว่า 64 ล้านบาท ภาสกร กล่าวทิ้งท้าย