ทุกชั่วโมงจะมีคนไทย 37 คนเสียชีวิตจากโรค NCD และอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้นทุกปี แนวคิดการสร้าง “เมืองน่าอยู่” จึงได้เข้ามามีบทบาทในการออกแบบพื้นที่อยู่อาศัย ทั้งอาคารบ้านเรือน และพื้นที่ส่วนรวมในเขตเมือง เพื่อสร้างความสุขและลดอัตราการเจ็บป่วย โดยเฉพาะภาวะการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCD (Non-Communicable Disease) ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในประเทศไทยและทั่วโลก
รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ลำพูน ซิตี้ แลป จำกัด ได้กล่าวในงานประชุมวิชาการประจำปีสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย Thai NCD Alliance 2024 ว่า ตามแนวทางของ NCD-Less Architectural Design เป็นการสร้างเมืองน่าอยู่ที่ผู้คนใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและป่วยน้อยลง ขับเคลื่อนแนวคิด Restorative City หรือ “เมืองแห่งอนาคต” เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตที่เหมาะสมให้กับทุกคน ลดอัตราการเกิดโรคกลุ่ม NCD โดยเฉพาะกลุ่มโรคทางเดินหายใจจากฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ ส่งผลให้การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องมุ่งเน้นสุขภาพและความเป็นอยู่ โดยการผนวกองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมเข้ากับสุขภาพและความเป็นอยู่
“โครงการ “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” (Lamphun Healing Town) นับเป็นโครงการต้นแบบของการสร้าง “เมืองน่าอยู่” ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพราะปัจจุบัน ลำพูนเป็นจังหวัดที่เผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในระดับสูงมาก และมีอัตราโรคมะเร็งปอดสูงที่สุดในภาคเหนือ ส่วนปัญหาด้านสภาพแวดล้อมที่พบคือ ขาดพื้นที่สีเขียว ต้นไม้กลางเมืองน้อย ทำให้ตัวเมืองร้อน แหล่งน้ำธรรมชาติจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษเหือดแห้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจังหวัด เนื่องจากภาวะประชากรหดตัว และ 30% เป็นผู้สูงอายุ ไม่มีรายได้ คนวัยทำงานออกไปอยู่เมืองอื่น นอกจากนี้ยังขาดที่พักและร้านค้า คุณภาพสูง รวมถึงมีกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวน้อยมาก การคืนชีวิตให้กับจังหวัดลำพูน ผ่านโครงการ Lamphun Healing Town เป็นภารกิจสำคัญที่ เทศบาลเมืองลำพูน ร่วมกับบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GSK และบริษัท ลำพูน ซิตี้ แลป ได้ร่วมมือกันอย่างแข็งแกร่ง เพื่อทำให้ทุกองค์ประกอบของเมืองลำพูนช่วยเยียวยาผู้คนอีกครั้ง” รศ.ดร.สิงห์ กล่าว
โสมรสา พงษ์เพิ่มพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) กล่าวว่า “GSK ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการดำเนินงานของจังหวัดและชุมชนชาวลำพูน ผ่านโครงการต้นแบบ Lamphun Healing Town เพื่อสนับสนุนการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของลำพูน ตามหลัก ESG (Environment, Social, Governance) ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยการปรับปรุงองค์ประกอบของ ถ.รถแก้ว เมืองลำพูน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดมลพิษทางอากาศ เพิ่มพื้นที่เขียว ลดมลพิษทางอากาศ สร้างความร่มรื่น จัดการระบบระบายน้ำ จัดการระบบแสงสว่าง และระบบสัญจร ด้านสุขภาพทั้งกายและใจ ด้วยการสร้างพื้นที่ออกกำลังกาย เสริมความร่มรื่น มีร่มเงา หายใจสะดวก และพื้นที่ผ่อนคลายด้วยงานศิลป์ และด้านเศรษฐกิจ ด้วยการเชื่อมโยงพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความน่าลงทุน ร่วมกับเน้นภาพลักษณ์ด้านสุขภาวะที่ดีของชาวลำพูน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัด เติมเต็มความสุขกายสบายใจให้แก่ผู้คนในลำพูน”
การดำเนินโครงการ Lamphun Healing Town ในระยะแรก เป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ของถนนรถแก้ว ที่เชื่อมระหว่างวัดพระรอด และวัดพระธาตุหริภุญชัย แหล่งท่องเที่ยวหลักประจำเมืองลำพูน โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อการเยียวยา ซึ่งนับเป็นถนนสายแรกที่มีการเจาะถนนเพื่อปลูกต้นไม้เพิ่ม ช่วยให้ผู้ใช้ถนนมีความผ่อนคลาย ลดภาวะความตึงเครียด และยังช่วยในเรื่องของอุณหภูมิอีกด้วย การปรับผิวถนนทำให้ผู้สูงอายุเดินได้สะดวก สามารถออกกำลังได้ รวมทั้งปรับแสงสว่างบริเวณโดยรอบ สร้างซุ้มประตูเมืองใหม่โดยเพิ่มสีเขียว และสุขศาลา (Community Wellness Center) เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาว และมุ่งจุดประกายให้มีการพัฒนาเมืองอื่นๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรที่มีสุขภาพดีและมีความสุข เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศในองค์รวมสืบไป
–เปิดตัว “โรงพยาบาลวิมุต – เทพธารินทร์” ชูความเป็นผู้นำและต้นแบบด้านการแพทย์ระดับสากล