เข้าสู่ฤดูหนาวทีไร นอกจากอากาศเย็นๆ ที่ชวนให้สบายตัวแล้ว โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็มักจะถามหา โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจที่พบได้บ่อย ล่าสุดมีกระแสข่าวการระบาดของ “ไวรัส hMPV” ที่ทำให้หลายคนกังวลว่าอาจเป็นโรคอุบัติใหม่เหมือนโควิด-19 วันนี้เรามาทำความรู้จักกับ hMPV ให้มากขึ้น พร้อมไขข้อสงสัยว่าจริงหรือไม่ที่ hMPV เป็นโรคร้ายแรง
hMPV คืออะไร?
hMPV หรือ ฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส (Human Metapneumovirus) เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ แพร่ระบาดผ่านการไอ จาม สัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดย hMPV ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แต่มีการค้นพบมานานแล้ว มักพบการระบาดในช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งในอดีตการตรวจวินิจฉัย hMPV ทำได้ยาก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น ทำให้ตรวจพบเชื้อ hMPV ได้อย่างแม่นยำ
อาการของ hMPV
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ hMPV ส่วนใหญ่มักมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก คัดจมูก เจ็บคอ บางรายอาจมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือหายใจมีเสียงหวีด ในผู้ใหญ่ อาการมักไม่รุนแรง และหายได้เองภายใน 2-3 วัน แต่ในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี อาจมีอาการรุนแรงกว่า เช่น ไข้สูง ไอมาก หายใจลำบาก ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบได้
พญ.สีวลี สีดาฟอง กุมารแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหารและตับในเด็ก โรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า “เด็กเล็กมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจาก hMPV ได้มากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบทางเดินหายใจยังพัฒนาไม่เต็มที่ และภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง พ่อแม่ผู้ปกครองควรสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีไข้สูง ไอมาก และหายใจลำบาก ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที”
สัญญาณอันตราย “ไอ-ไข้-หอบเหนื่อย” เสี่ยงปอดอักเสบ
พ่อแม่ผู้ปกครองควรสังเกตอาการของลูกน้อย หากพบสัญญาณ 3 อย่างนี้ คือ “ไอ-ไข้-หอบเหนื่อย” อาจเป็นสัญญาณของปอดอักเสบ ซึ่งถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงของ hMPV โดยอาการหอบเหนื่อย สังเกตได้จาก หายใจเร็ว หน้าอกบุ๋ม หายใจมีเสียงหวีด จมูกบาน ริมฝีปากเขียว หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัส hMPV โดยเฉพาะ การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ในเด็กเล็กที่มีอาการรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ อาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อพ่นยาขยายหลอดลม ดูดเสมหะ หรือให้ออกซิเจน ซึ่งอาจต้องใช้เวลารักษานานกว่าปกติ
แม้ hMPV จะไม่ใช่โรคใหม่ และสามารถรักษาให้หายได้ แต่การป้องกันก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้มากกว่า วิธีการป้องกัน hMPV ทำได้โดย
- สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า โดยเฉพาะ ตา จมูก ปาก
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดหน้า
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเดินหายใจ
hMPV ไม่ใช่โรคที่น่ากลัว หากรู้จักวิธีป้องกัน และสังเกตอาการของตนเองและคนรอบข้างอย่างใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
–ScolioBuddy นวัตกรรมแอปฯ สัญชาติไทย ตรวจคัดกรองกระดูกสันหลังคด สู่เป้าหมายลดช่องว่างสุขภาพ