สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ร่วมกับ 6 สมาคม และ 1 ราชวิทยาลัย เผยแพร่ “คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566“ เพื่อให้ความรู้แพทย์และประชาชนเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ที่ยังคงมีความจำเป็น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน เผย 5 วัคซีนใหม่ที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและครอบคลุมสายพันธุ์ได้มากขึ้น ได้แก่ วัคซีนไข้เลือดออก วัคซีนนิวโมค็อกคัส วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก และวัคซีนงูสวัด
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรุญ มุตสิกพันธุ์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย มีการจัดทำแนวทางการให้วัคซีนในผู้ใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง ครั้งสุดท้ายเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีวัคซีนใหม่และข้อบ่งชี้ใหม่ สมาคมฯ จึงได้ปรับปรุงแนวทางการให้วัคซีนให้ทันสมัย เพื่อที่แพทย์จะได้นำไปใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม ประชาชนได้รับทราบถึงความสำคัญของการป้องกันโรคด้วยวัคซีนและวัคซีนที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะการให้วัคซีนในผู้สูงอายุ ที่ปัจจุบันคนไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ซึ่งการให้การป้องกันโรคติดเชื้อด้วยวัคซีนในผู้สูงอายุก็ไม่ต่างจากผู้ป่วยเด็กเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง จึงอยากให้แพทย์และประชาชนเห็นความสำคัญในเรื่องการรับวัคซีนป้องกันโรคมากขึ้น”
–ฟูจิฟิล์ม ร่วมงาน “ASEAN DENGUE DAY 2023” โชว์นวัตกรรมตรวจวินิจฉัยไข้เลือดออกตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล อุปนายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ใหญ่ทั่วไปก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ เครื่องมืออย่างหนึ่งในการป้องกันโรค คือ วัคซีน ผู้ใหญ่ทั่วไปจึงควรที่จะได้รับวัคซีนป้องกันโรค โดยเฉพาะบางคนที่มีโรคร่วม เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคปอด โรคตับ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือผู้ที่จะไปท่องเที่ยวและผู้สูงอายุ เพราะการที่มีอายุเพิ่มขึ้นก็จะมีภาวะภูมิคุ้มกันถดถอย ทำให้มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งการฉีดวัคซีนจะสามารถป้องกันโรคได้
“ในปีนี้เป็นปีแห่งวัคซีนใหม่สำหรับผู้ใหญ่ อย่างน้อยมี 5 วัคซีนที่ควรจะต้องทราบ วัคซีนแรก คือ วัคซีนนิวโมค็อกคัสหรือที่รู้จักกันดีว่าวัคซีนปอดอักเสบหรือวัคซีนป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดเพราะจริง ๆ ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมค็อกคัสได้เพียง 1 ชนิดเท่านั้น ซึ่งมีวัคซีนแบบใหม่ที่สามารถป้องกันได้ 15 สายพันธุ์ วัคซีนที่ 2 คือ วัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งวัคซีนเดิมใช้ได้เฉพาะในผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน แต่วัคซีนใหม่สามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยเป็นและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน วัคซีนที่ 3 คือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่ในปีนี้จะมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขนาดสูง หรือ high Dose สำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีน วัคซีนที่ 4 คือ วัคซีนเอชพีวีหรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งมีวัคซีนแบบ 9 สายพันธุ์ เพื่อครอบคลุมสายพันธุ์ได้มากขึ้น และวัคซีนที่ 5 คือ วัคซีนงูสวัด ซึ่งเดิมเรามีอยู่แล้วแต่เป็นวัคซีนเชื้อเป็น ทำให้ไม่สามารถฉีดได้ในบางกลุ่ม โดยวัคซีนชนิดใหม่ที่คาดว่าจะมีในปีนี้ จะเป็นแบบที่ไม่ใช้เชื้อเป็น ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป และสำหรับผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องฉีดได้ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป”
ทั้งนี้ “คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566“ จัดทำโดย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ร่วมกับ 6 สมาคม และ 1 ราชวิทยาลัย ได้แก่ สมาคมเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวไทย สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย