คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับบริษัท แคริว่า (CARIVA) ประเทศไทย จำกัด ภายใต้การกำกับดูแลของ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส หรือ เออาร์วี (ARV) มุ่งยกระดับวงการแพทย์ไทยผ่านการนำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผสมผสานเข้ากับองค์ความรู้เฉพาะทาง 4 โครงการ ได้แก่ โครงการ SiCAR Ai Lab : แพลตฟอร์มทดสอบ และพัฒนาเเบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ทางด้านการแพทย์ โครงการพัฒนา AI อ่านและวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ โครงการพัฒนาบริการการตรวจยีนส์ เพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคในอนาคต และโครงการแหล่งพัฒนาสตาร์ทอัพ เพื่อต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์สู่ธุรกิจจริงกับศูนย์ VDC ทั้ง 4 โครงการนี้ถือเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้บริการด้านสุขภาพในทุกมิติ รวมถึงช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้อุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยมีความทันสมัย มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางบริการการแพทย์ของโลก
ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมไทย ทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุการขยายตัวของชุมชนเมือง รวมถึงกระแสการดูแลสุขภาพที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทำให้โรงพยาบาลต้องปรับแนวทางการให้บริการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการด้านนวัตกรรม เพื่อร่วมกันรังสรรค์สิ่งใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีชีวภาพด้านสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการให้บริการด้านสุขภาพในทุกมิติแล้ว ยังเป็นการช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ผลิต ผู้พัฒนา ตลอดจนอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยให้มีความทันสมัย มีมูลค่าที่สูงขึ้น และมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ของโลก
“ในอนาคต ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถทำให้การรับมือกับภาวะทางสุขภาพเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด หน่วยงานทางการแพทย์จึงจำเป็นต้องดึงความโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ในการรักษา ความถนัดเฉพาะทาง รวมถึงข้อมูลที่มีอยู่มาผสานกับนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สมรรถนะในการดำเนินงานไต่สู่ระดับที่สูงขึ้น เช่นเดียวกันกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่ได้นำข้อมูลที่มีคุณภาพ หรือ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาต่อยอดกับเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งกำลังมีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการการแพทย์ อานิสงส์สำคัญคือการลดปัญหาจำนวนแพทย์ที่ไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย ต่อเนื่องถึงการทำให้การวินิจฉัยทางการแพทย์มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น เพิ่มศักยภาพการรักษาพยาบาล – การวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ตลอดจนการเป็นแหล่งบ่มเพาะ Medical AI Startup , MedTech Startup ให้เกิดขึ้นจากพื้นที่ที่เชี่ยวชาญด้านการแพทย์โดยตรงได้อีกด้วย”
ด้าน นาถฤดี โฆสิตาภัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานเทคโนโลยีและคาร์บอนโซลูชั่น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบอร์ดบริหาร เออาร์วี กล่าวว่า เมื่อภาคอุตสาหกรรมของไทยหมุนเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความสามารถในการสร้างสรรค์และใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำมาใช้ประโยชน์นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต ซึ่งการนำเทคโนโลยี AI มาใช้กับการแพทย์ นับเป็นหนึ่งในสิ่งที่น่าจับตามอง
“เมื่อประชากรโลกหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น บวกกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งผลให้ธุรกิจด้านนวัตกรรมการแพทย์ทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ประเทศไทยธุรกิจด้านการแพทย์จัดเป็นหนึ่งใน New S Curve หรืออุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ภาครัฐให้การส่งเสริม เพราะไทยมีความพร้อมทั้งด้านคุณภาพการบริการ มาตรฐานการรักษา และเทคโนโลยีทางการแพทย์อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ชาวต่างชาติไว้วางใจที่จะเดินทางมารักษาโรคและดูแลสุขภาพติดอันดับต้นๆ ของโลก ทางด้านรัฐบาลไทยจึงได้จัดทำ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (MEDICAL HUB) (พ.ศ.2560 – 2569)” ขึ้น และการที่เทคโนโลยีเข้ามาสั่นสะเทือนวงการการแพทย์ ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนด้านการลงทุน จากเดิมที่เคยลงทุนใน “ธุรกิจการแพทย์ดั้งเดิม” ไปสู่ “ธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์” ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ยังเป็นการสร้างโอกาสด้านการลงทุน และช่วยผลักดันไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจรของเอเชียได้ ดังนั้น การทำความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะทำให้สตาร์ทอัพในด้านดีพเทค และ AI ด้านการแพทย์ มีโอกาสพัฒนาศักยภาพเพิ่มมากขึ้น และทำให้มูลค่าเทคโนโลยีเชิงลึกของประเทศไทยเติบโตและแข่งขันได้ในระดับโกลบอล”
4 โครงการที่ได้ร่วมกันจัดทำและพัฒนา
ศิวดล มาตยากูร ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แคริว่า (CARIVA) ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า แคริว่าเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จึงเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นการพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่นด้านการดูแลสุขภาพ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ด้านการแพทย์เฉพาะบุคคล เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันสุขภาพที่ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพให้กับโรงพยาบาล หรือการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพจากอุปกรณ์ต่างๆ อย่างครบวงจร และการสร้างระบบช่วยแพทย์ตัดสินใจ และช่วยในการวินิจฉัยโรคเชิงลึกแบบองค์รวม (multi-modal prediction model)
ด้วยการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีเชิงลึก แพลตฟอร์ม และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นความถนัดของแคริว่า มาผสมผสานเข้ากับองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการแพทย์ชั้นนำของประเทศไทย เพื่อเปลี่ยนเเปลงและปฏิวัติวงการแพทย์ ผ่าน 4 โครงการที่ได้ร่วมกันจัดทำและพัฒนา ได้แก่
โครงการ SiCAR Ai Lab : แพลตฟอร์มทดสอบ และพัฒนาเเบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ทางด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นการพัฒนาฐานข้อมูลสุขภาพแบบนิรนามพร้อมใช้ร่วมกับศิริราช ผสมผสานกับการสร้าง AI model ของ CARIVA รวมถึงการสร้างชุดข้อมูลเสมือนทางการแพทย์โดยใช้ AI (Synthetic data) ช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพแบบนิรนามได้มากขึ้น สามารถปรับปรุง AI กับฐานข้อมูลที่คัดสรรโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับสตาร์ทอัพ นำไปสู่การยกระดับการดูแลสุขภาพและการรักษาทางด้านการแพทย์ และส่งเสริมระบบนิเวศของ Medical AI start up ของประเทศไทย
โครงการร่วมมือกับภาควิชารังสีวิทยา ในการพัฒนา AI อ่านและวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ประเภทต่างๆ อาทิ AI วัดปริมาตรอวัยวะ และเนื้องอก และ Imaging study recommender
AI วัดปริมาตรอวัยวะ และเนื้องอก : ทางเเคริว่า ได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยทั้งในการแยกชิ้นส่วน ระบายสี และแสดงผลออกมาในรูปแบบสามมิติ ซึ่งสามารถช่วยลดระยะเวลาการเตรียมภาพ (Label) และการคำนวณโดยเฉลี่ยไปได้กว่าครึ่ง โดยข้อมูลที่ใช้ในการฝึกฝนในขั้นต้นนั้นเป็นข้อมูลจากต่างประเทศ ความร่วมมือกับภาควิชารังสี จะเป็นการต่อยอดโมเดลให้เหมาะสมกับข้อมูลของคนไข้ภายในประเทศไทย และเปิดโอกาสให้รังสีแพทย์ในศิริราชได้ทดสอบและลองใช้งาน เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้รังสีแพทย์ทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น ช่วยลดภาระงานและนำไปสู่ผลลัพท์ของการประเมิน หรือการวินิจฉัยอาการของคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น
Imaging study recommender: ร่วมกันพัฒนา AI ที่จะช่วยแนะนำการตรวจทางรังสีวิทยา เช่น X-ray และ CT ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล โดยอ้างอิงจากข้อมูลต่างๆ อาทิ ประวัติสุขภาพ ประวัติการตรวจภาพถ่ายทางรังสี ปัจจุบันระบบต้นแบบสามารถคาดการณ์ประเภทการตรวจของคนไข้ได้แม่นยำถึง 96% ระบบนี้นอกจากจะเป็นเสมือนผู้ช่วยของรังสีแพทย์ในการเลือกการตรวจที่เหมาะสมแล้ว ยังสามารถต่อยอดเครื่องมือดังกล่าวกับการบริการด้านอื่นๆ ของโรงพยาบาล เช่น การตรวจแล็บ การสั่งยาได้อีกด้วย
โครงการธุรกิจด้านจีโนมิกส์ โดยร่วมกับศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช ส่งเสริมการเข้าถึงการตรวจความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งด้วยรหัสพันธุกรรม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความแม่นยำสูง และความร่วมมือกับห้องปฏิบัติการ Siriraj Long-read lab ผลักดันผลงานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยี Long-Read Sequencing ไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยร่วมกันพัฒนากับแคริว่า 2 ผลิตภัณฑ์แรก คือ NanoPGx (Nanopore-based pharmacogenomics) เป็นการตรวจยีนแพ้ยาแบบความละเอียดสูงและแตกต่างจากการวิธีดั้งเดิม กล่าวคือ เป็นการตรวจยีนแพ้ยาที่ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ (population-independent) ทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถให้บริการทั้งผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติ ยกระดับการตรวจยีนแพ้ยาให้เข้าสู่ระดับสากล
ผลิตภัณฑ์ที่สองคือ Preemptive-101 เป็นการตรวจยีน 101 ยีน ที่คัดเลือกมาแล้วว่าลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตหรือภาวะแทรกซ้อนให้กับลูกค้าได้ เช่น ตรวจยีนที่เกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการแพ้ยาสลบ หรือภาวะ Malignant Hyperthermia โดยแคริว่าจะร่วมพัฒนาระบบการประมวลผลที่ใช้งานง่าย เพื่อให้บริการเเก่กลุ่มลูกค้า B2B อย่างโรงพยาบาล หรือคลินิก ที่สนใจ (ทั้งสองผลิตภัณฑ์อยู่ระหว่างการวิจัยเเละพัฒนา)
โครงการความร่วมมือกับศูนย์ขับเคลื่อนคุณค่าการบริการ (VDC) : แหล่งพัฒนาสตาร์ทอัพ เพื่อต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์สู่ธุรกิจจริง โดยร่วมกันบ่มเพาะ สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรม Design Thinking ให้เข้าใจถึงปัญหาอย่างแท้จริง และสามารถพัฒนานวัตกรรมที่จะเข้ามาตอบโจทย์ ตลอดจนการให้คำแนะนำทั้งด้านธุรกิจ และเทคโนโลยี หรือการปรับปรุงโมเดลผ่านแพลตฟอร์ม SiCAR Ai Lab เพื่อเติมเต็มความรู้ให้กับแต่ละทีม และต่อยอดสู่ธุรกิจในระยะยาว