Southeast Asia Access to Medicines Summit เปิดศักราชใหม่แห่งการเข้าถึงยาและการรักษาอย่างเท่าเทียมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Southeast Asia Access to Medicines Summit เปิดศักราชใหม่แห่งการเข้าถึงยาและการรักษาอย่างเท่าเทียมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภาคีเครือข่ายนานาชาติผนึกกำลังจัดประชุมสุดยอด Southeast Asia Access to Medicines Summit ครั้งแรกในกรุงเทพฯ ปูทางสู่การลดอุปสรรคการเข้าถึงยาและการรักษาอย่างยั่งยืน ชูประเด็นสำคัญ “คำมั่นสัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง” และ “เสียงของผู้ป่วย”

นับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ภาคีเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) สถาบันการศึกษา ภาคีตัวแทนผู้ป่วย และประชาสังคม นำโดย ACCESS Health International, Asian Venture Philanthropy Network (AVPN), SingHealth Duke-NUS Global Health Institute และ บริษัท ทาเคดา ฟาร์มาซูติคัล จำกัด ผู้นำด้านชีวเภสัชภัณฑ์ระดับโลกที่มีพันธกิจมุ่งส่งเสริมการเข้าถึงยาและการรักษาอย่างเท่าเทียม ได้ร่วมกันจัดการประชุม Southeast Asia Access to Medicines Summit ครั้งแรก ณ กรุงเทพมหานคร

การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการรวมพลังจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันลดอุปสรรคการเข้าถึงยาและการรักษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยังคงเป็นประเด็นท้าทายที่ต้องเผชิญอยู่ในหลายประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม และได้รับยาจำเป็นอย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ และเท่าเทียมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สถานการณ์การเข้าถึงยาและการรักษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ความท้าทายที่ต้องเผชิญ

แม้ว่าระบบสาธารณสุขในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีความก้าวหน้าไปมาก แต่รายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ความก้าวหน้าสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) ได้ชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2019 หลายประเทศยังคงเผชิญกับโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่เปราะบาง และมีช่องว่างสำคัญในการคัดกรอง วินิจฉัย และการเข้าถึงการรักษา

ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคหายาก หรือผู้ป่วยที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูง ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงยาและการรักษาที่จำเป็นได้

เสียงสะท้อนจากผู้ป่วย: ความท้าทายและข้อเสนอแนะ

ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ในฐานะอดีตผู้ป่วยมะเร็งที่ผ่านการรักษามาอย่างยาวนาน ได้สะท้อนถึงความท้าทายที่ผู้ป่วยต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาที่สูง สิทธิในการเข้าถึงยา รวมถึงการเข้าถึงการรักษาที่เสมอภาคสำหรับทุกคน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งและโรคร้ายแรงต่าง ๆ ที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด

อรจิตต์ บำรุงสกุลสวัสดิ์ กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิมิตรภาพบำบัด ได้กล่าวถึงความสำคัญของข้อมูลประสบการณ์การรักษาของผู้ป่วย (Patience Experience Data) และการรับฟังเสียงของผู้ป่วย เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางการพัฒนานโยบายด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคหายาก ที่การรักษาและยามีราคาสูง ทำให้ไม่สามารถใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาแบบเดียวกับยาประเภทอื่น ๆ ในการบรรจุเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติได้

ความมุ่งมั่นของภาคีเครือข่าย: คำมั่นสัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ดิออน วอร์เรน ผู้อำนวยการ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย บริษัท ทาเคดา ฟาร์มาซูติคัล จำกัด ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของทาเคดาในการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายพันธมิตร เพื่อขจัดอุปสรรคด้านการเข้าถึงยาและการรักษา ผ่านกลยุทธ์การเข้าถึงยาทั่วโลกของทาเคดา (Takeda Access to Medicine) โดยให้ความสำคัญกับการจัดหา ความสามารถในการจ่ายยา และการส่งเสริมศักยภาพของระบบสาธารณสุขทั่วโลกให้มีความยืดหยุ่นและครอบคลุม

ประเด็นสำคัญของการประชุมในครั้งนี้คือ Southeast Asia Access to Medicines Pledge ซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาจากภาคีเครือข่าย เพื่อร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในระยะยาวทั่วทั้งภูมิภาค โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสามารถเข้าร่วมได้มากยิ่งขึ้น

คำมั่นสัญญาดังกล่าวประกอบด้วย

  1. ส่งเสริมระบบสาธารณสุขที่ครอบคลุม: ผ่านการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การเข้าถึงยาและการรักษามีความเท่าเทียมมากขึ้น
  2. ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม: ผ่านการพัฒนาและหาแนวทางที่จะมีประสิทธิผลสำหรับโรคและสุขภาวะที่ส่งผลกระทบต่อประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  3. สนับสนุนและผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบายผ่านหลักฐานเชิงประจักษ์: เพื่อลดอุปสรรคในระบบการเข้าถึงยาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบสาธารณสุขในภูมิภาค
  4. ยกระดับการรับฟังเสียงของชุมชนและผู้ป่วย: ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรเพื่อให้พวกเขามีบทบาทในการตัดสินใจ
  5. สนับสนุนการจัดทำแผนงานที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนและสามารถวัดผลได้: เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและประเมินความคืบหน้าของการเข้าถึงยาทั่วภูมิภาค

ก้าวต่อไปของการเข้าถึงยาและการรักษาอย่างเท่าเทียม

การประชุม Southeast Asia Access to Medicines Summit ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการรวมพลังจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการเข้าถึงยาและการรักษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม และได้รับยาจำเป็นอย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ และเท่าเทียมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

40 ปี โรงพยาบาลวิมุต-เทพธารินทร์ มุ่งมั่นดูแลสุขภาพคนทุกวัย เปิดแคมเปญลดเสี่ยง NCDs

Related Posts

Scroll to Top