ทรู คอร์ปอเรชั่น เดินหน้ายกระดับวงการสาธารณสุขไทย สู่ “สาธารณสุขอัจฉริยะ” ด้วยการนำศักยภาพเครือข่าย 5G เสริมประสิทธิภาพ “รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่” (Mobile Stroke Unit) รุกต่อยอดความสำเร็จโครงการต้นแบบจากศิริราช สู่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ หวังลดอัตราการเสียชีวิตและทุพพลภาพจากโรคหลอดเลือดสมอง
ในยุคที่โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คร่าชีวิตคนไทยจำนวนมาก ทรู คอร์ปอเรชั่น ตระหนักถึงความสำคัญของ “ทุกวินาทีชีวิต” จึงได้นำศักยภาพของเครือข่าย 5G มาเสริมประสิทธิภาพ “รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่” (Mobile Stroke Unit) ภายใต้โครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันในพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงาน กสทช. โดยเริ่มนำร่องแล้วที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน
ประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัยระบบสารสนเทศ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เครือข่าย 5G ของทรู มีจุดเด่นด้านความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ ความเสถียร และความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์หลากหลาย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเชื่อมต่อ ‘Mobile Stroke Unit’ ให้แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างทันท่วงที เสมือนอยู่ในการรักษาของแพทย์ โดยเฉพาะการส่งภาพสแกนสมองจากเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองที่มีไฟล์ขนาดใหญ่ และสัญญาณชีพของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ด้วยความละเอียดสูง ช่วยให้ทีมแพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างแม่นยำและทันเวลา พลิกวิกฤตในนาทีชีวิต ก่อนผู้ป่วยจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล ซึ่งช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและทุพพลภาพของคนไทย”
5G กับบทบาทสำคัญใน “Mobile Stroke Unit”
การนำเทคโนโลยี 5G มาใช้กับ “รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่” ช่วยยกระดับการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะใน 3 ด้านหลัก ได้แก่
- การสื่อสารคุณภาพสูง: อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของ 5G ช่วยให้แพทย์และผู้ป่วยสื่อสารผ่านวิดีโอคอลได้อย่างคมชัด ไม่มีสะดุด เอื้อต่อการวินิจฉัยและการให้คำปรึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ และทันท่วงที ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในภาวะวิกฤตที่ “ทุกวินาทีมีค่า”
- การรับ-ส่งข้อมูลรวดเร็ว: 5G ช่วยให้การรับ-ส่งข้อมูลทางการแพทย์ เช่น ภาพถ่าย เอกซเรย์ หรือผลตรวจต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว และปลอดภัย แม้ไฟล์ข้อมูลจะมีขนาดใหญ่ เช่น ภาพ CT Scan สมอง
- ขยายบริการสาธารณสุขสู่พื้นที่ห่างไกล: 5G เป็นรากฐานสำคัญของ “สาธารณสุขอัจฉริยะ” ที่ช่วยให้บริการทางการแพทย์เข้าถึงพื้นที่ห่างไกล ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขั้นสูงให้กับประชาชน
Mobile Stroke Unit: โรงพยาบาลเคลื่อนที่ พร้อมช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
รถ Mobile Stroke Unit ได้รับการออกแบบให้เป็นเสมือน “โรงพยาบาลเคลื่อนที่” พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อให้บริการผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล โดยมีหลักการทำงานที่สำคัญต่อชีวิตผู้ป่วย ดังนี้
- รถพยาบาลเฉพาะทาง: ทำหน้าที่เสมือนโรงพยาบาลเคลื่อนที่ เข้าถึงผู้ป่วยในชุมชน ช่วยลดระยะเวลารักษา และลดอัตราการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ
- เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scanner): ให้ภาพสแกนสมองภายในไม่กี่วินาที ช่วยให้แพทย์วินิจฉัย แยกแยะระหว่างภาวะหลอดเลือดอุดตันหรือเลือดออกในสมอง และรักษาได้อย่างรวดเร็ว
- อุปกรณ์การแพทย์ครบครัน: ติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัย เช่น เครื่องฉีดสารทึบรังสี เครื่องตรวจเลือด พร้อมระบบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางทางไกล (Teleconsultation) และสามารถให้ยาสลายลิ่มเลือดได้ทันที
- ระบบกล้องบันทึกภาพและสนทนา: ช่วยให้ทีมแพทย์วางแผนการรักษาล่วงหน้า ก่อนผู้ป่วยจะถึงโรงพยาบาล
โรคหลอดเลือดสมอง: ภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทย
ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสูงถึง 349,126 ราย มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 10 และทุพพลภาพถึงร้อยละ 60 โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายของคนไทยอันดับ 2 รองจากมะเร็ง
องค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก (WSO) เผยว่า ประชากรทั่วโลก 1 ใน 4 คน เคยประสบกับโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้น การดูแลสุขภาพและการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
สังเกตอาการ เสี่ยง “โรคหลอดเลือดสมอง” ด้วยหลัก B.E.F.A.S.T.
- Balance: เดินเซ เวียนศีรษะ บ้านหมุนฉับพลัน
- Eye: ตามัว มองเห็นภาพซ้อนฉับพลัน
- Face: ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยวเฉียบพลัน
- Arm: แขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก
- Speech: พูดไม่ชัด เสียงเปลี่ยน ลิ้นแข็ง พูดไม่รู้เรื่อง
- Time: ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ต้องได้รับยาสลายลิ่มเลือดภายใน 4 ชั่วโมง 30 นาที ทุก 1 นาทีที่เสียไป สมองและเซลล์ประสาทจะตาย 1.9 ล้านตัว หากพบแพทย์ล่าช้า อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรืออาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต กลายเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวร
“ทรู 5G” เพื่อสาธารณสุขไทยที่เข้าถึงได้ทุกพื้นที่
ประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เทคโนโลยี 5G ช่วยให้การส่งข้อมูลทางการแพทย์ขนาดใหญ่ ทั้งภาพ CT Scan สมองและสัญญาณชีพของผู้ป่วย เป็นไปอย่างแม่นยำ รวดเร็วแบบเรียลไทม์ แม้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะอยู่ห่างไกล ช่วยให้การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาเป็นไปอย่างทันท่วงที นับเป็นการยกระดับการเข้าถึงการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สำหรับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ที่ขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมอง”
ความร่วมมือในโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติฯ นับเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการพัฒนาหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) ร่วมกับศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2563 ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มโดยศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช และพัฒนารถต้นแบบคันแรกเสร็จในปี 2561
“ทรู คอร์ปอเรชั่น มุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาระบบสาธารณสุขอัจฉริยะ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขั้นสูงของคนไทยในทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม” ประเทศ กล่าวทิ้งท้าย