จากการศึกษาของ The Pan American Health Organization (PAHO) พบว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากฮอร์โมนและพันธุกรรมที่ส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิด 5 โรคสำคัญ ได้แก่
กลุ่มโรคมะเร็ง: มะเร็งเต้านม, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งปอด
จากรายงานทางการแพทย์พบว่า โรคมะเร็งเต้านมที่ถึงแม้จะพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แต่ผู้หญิงมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคนี้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากปัจจัยด้านพันธุกรรม ฮอร์โมน และพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยโรคดังกล่าวมักพบในหมู่สตรีวัยกลางคนเฉลี่ยอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ก็ควรจะต้องเริ่มตรวจเต้านมด้วยตัวเองอยู่เสมอ และพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมทุก 1-3 ปี เพราะมะเร็ง หากรู้เร็ว สามารถรักษาได้
ลำดับต่อมา คือ โรคมะเร็งปากมดลูก ที่มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการติดเชื้อไวรัส Human Papillomavirus (HPV) ร่วมกับปัจจัยอื่น เช่น การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย การสูบบุหรี่ การมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โดยโรคดังกล่าวมักพบมากในผู้หญิงอายุ 35 – 60 ปี ซึ่งมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน HPV และการตรวจคัดกรองควบคู่กันไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและพฤติกรรม เช่น ฝุ่น ควัน การได้รับควันบุหรี่ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการตรวจพบโรคมะเร็งปอดมากขึ้นในผู้หญิง ดังนั้น การเข้ารับการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นจะช่วยลดความเสี่ยงก่อนเข้าระยะลุกลาม หรือ ระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายที่ส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
โรคหัวใจ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจสำหรับผู้หญิงอายุ 35 – 54 ปีมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 21% เป็น 31% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงเริ่มป่วยเป็นโรคหัวใจมากขึ้นในช่วงอายุที่น้อยลงจากเดิมที่มักเกิดขึ้นในช่วงอายุ 50 – 60 ปีซึ่งเป็นวัยหมดประจำเดือน โดยโรคหัวใจสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งภาวะความดันสูง โรคอ้วน และความเครียด ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรออกกำลังกายภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคู่กับการปรับพฤติกรรมที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคหัวใจ
โรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน เป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่น่ากังวลและเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญระดับประเทศ จากผลวิจัยพบว่า เบาหวานเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของผู้หญิงในประเทศไทย โดยเกิดได้ทั้งจากปัจจัยภายใน เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน การตั้งครรภ์ พันธุกรรม รวมถึงปัจจัยภายนอก เช่น การขาดการออกกำลัง การทานอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เป็นต้น โดยโรคเบาหวานยังสามารถก่อให้เกิดภาวะโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ไตวาย ปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดแดงฝอยและเส้นประสาท ซึ่งการควบคุมอาหารและติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองให้อยู่ในเกณฑ์ เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากภาวะเบาหวาน
โรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนเป็นภาวะที่กระดูกมีความอ่อนแอ เปราะบาง และมีแนวโน้มที่จะแตกหักง่าย ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ปัจจุบันผู้หญิงทั่วโลกเป็นโรคกระดูกพรุน มากกว่า 200 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่อายุ 65 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ชาย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในช่วงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียมวลกระดูกได้ โดยเราสามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคกระดูกพรุนได้โดยการออกกำลังกายแบบยกน้ำหนัก ควบคู่ไปกับการบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอเป็นประจำทุกวัน
โรคที่เกิดจากความเครียด
ความเครียดเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคโรคซึมเศร้า ซึ่งผู้หญิงในทุกช่วงวัยมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า เนื่องจากปัจจัยด้านฮอร์โมนและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น ความรุนแรงทางเพศ การเลือกปฏิบัติ รวมถึงบริบททางสังคม ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียด ที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในผู้หญิง ซึ่งหากใครที่เริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติทางด้านอารมณ์และจิตใจ ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการรักษาที่เหมาะสม
การดูแลสุขภาพเบื้องต้นสำหรับผู้หญิง
เนื่องจากเพศหญิงเป็นเพศที่ละเอียดอ่อนและต้องการการดูแลที่เฉพาะทางและตรงจุด การหมั่นดูแลรักษาร่างกายและจิตใจของตัวเองจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ บางสาเหตุของโรคภัยข้างต้นยังสามารถเกิดจากสภาวะร่างกายที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น การได้รับตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ควบคู่กับการดูแลสุขภาพผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็จะช่วยป้องกันและลดทอนความรุนแรงของ 5 โรคเหล่านี้ได้
บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองวันสตรีสากลปี 2023 (8 มีนาคม) ผ่านการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases หรือ NCDs) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศหญิง รวมถึงการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับโลก