ภาวะวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลก มีแนวโน้มคลี่คลายมากขึ้นรวมถึงประเทศไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยมีทิศทางการฟื้นตัวที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าประเทศไทยจะมีการเปิดประเทศแล้ว แต่เรื่องการดูแลสุขภาพก็ยังละเลยไม่ได้ ดังนั้น e-Health จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางดิจิทัลที่ทำให้การเข้าถึงข้อมูลของผู้รับบริการด้านสุขภาพง่ายขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน รวมถึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยบันทึกพฤติกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้ใช้งาน เพื่อเป็นข้อมูลในการวินิจฉัยโรคที่สะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตั้งเป้าหมายพัฒนา e-Health ผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการสร้างมาตรฐานของข้อมูลทางด้านสุขภาพที่มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้แต่ละประเทศมีการพัฒนาด้าน e-Health ที่แตกต่างกันออกไป โดยมีปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกันขึ้นมา ซึ่งแต่ละประเทศมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างไร วันนี้ ETDA นำเรื่องราวเกี่ยวกับ e-Health รวมถึงในประเทศไทยมาอัปเดตให้ทราบไปพร้อมกัน
● TousAntiCovid แจ้งเตือนเมื่ออยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดย ‘ฝรั่งเศส’ ท็อปโลกด้านระบบเฮลธ์แคร์
การเข้าถึงระบบสาธารณสุขของฝรั่งเศสเข้าถึงได้ง่าย โดยเป็นการรักษาแบบครอบคลุมทั่วถึง (Universal Coverage) และเป็นองค์กรของภาครัฐ ขณะเดียวกันฝรั่งเศสยังถือเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลก มีการประกันสุขภาพตามกฎหมาย หรือ Statutory health insurance (SHI) ที่ครอบคลุมถึงประชาชนทุกคน ซึ่งปกติประชาชนในประเทศจะทำการสำรองจ่ายก่อนเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลและรัฐจะคืนให้ภายหลัง
–Garmin เปิดโมเดลธุรกิจ “การ์มิน เฮลท์” เดินหน้ารุกตลาดสุขภาพ
–เครดิตบูโร แนะตรวจเครดิตบูโรต่อเนื่องรักษาสุขภาพการเงิน พร้อมรับฟรีสมุดโชคดีมีชัยและเจลแอลกอฮอล์
นับตั้งแต่ปี 2010 ฝรั่งเศสมีนโยบายด้านสุขภาพในแนวทางดิจิทัลและพัฒนามาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เพื่อให้มีระบบ e-Health ที่ได้มาตรฐาน โดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางตามยุทธศาสตร์สุขภาพแห่งชาติ 2022 รวมทั้งยังมีการก่อตั้งหน่วยงานด้านสุขภาพดิจิทัลแห่งชาติ (The National Digital Health Agency) เพื่อดำเนินการตามกลยุทธ์ด้านสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐบาล มุ่งเน้นการบันทึกข้อมูลด้านสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์และการใช้ข้อมูลอย่างปลอดภัยผ่านแพลตฟอร์ม e-Health รวมถึงมีการร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อรองรับการสร้างแพลตฟอร์มดังกล่าว และเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานข้อมูลด้านสุขภาพขนาดใหญ่ภายใต้ความปลอดภัยระดับสูง
ทั้งนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ฝรั่งเศส สร้างแอปพลิเคชัน TousAntiCovid สำหรับบันทึกประวัติผู้ติดต่อใกล้เคียงด้วยวิธีเข้ารหัสผ่านบลูทูธ โดยผู้ใช้แอปฯ จะได้รับการแจ้งเตือนหากอยู่ใกล้ผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 5 นาทีภายในรัศมี 2 เมตร ซึ่งมีการตั้งระบบให้มีความปลอดภัยสูง ไม่มีการเปิดเผยตัวตนของผู้ใช้ ไม่ใช้ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และไม่เผยข้อมูลส่วนบุคคล จึงถือเป็นอีกก้าวของ e-Health ในฝรั่งเศสที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยดูแลสุขภาพของประชาชนท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด
● Corona-Warn-App ติดตามผู้ติดเชื้อ ค้นหาข้อมูลโควิด-19 โดย ‘เยอรมนี’ ที่หนึ่งด้านมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ที่มาพร้อมดิจิทัล
เยอรมนี ถือเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์มากที่สุดประเทศหนึ่ง เนื่องจากมีสัดส่วนของมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ที่ดีที่สุดในโลก ระบบการรักษาพยาบาลของเยอรมนีเป็นระบบที่ทำควบคู่กันระหว่างภาครัฐและเอกชน ประชาชนในประเทศทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการรักษาพยาบาลฟรี และยังสามารถทำประกันสุขภาพของเอกชนเพื่อเพิ่มความคุ้มครองเพิ่มเติมได้อีกด้วย
ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขของเยอรมนีได้ผลักดันกฎหมายหลายฉบับเพื่อทำให้ e-Health เกิดขึ้น โดยมุ่งหวังทำให้ผู้ประกันตนในเยอรมนีทั้งหมดเข้าถึงบริการทางสุขภาพ รวมถึงเอกสารทางการแพทย์ได้ผ่านระบบ DIGA ซึ่งช่วยติดตามการรักษา และทำเรื่องชดเชยกรณีเจ็บป่วยได้ด้วย นอกจากนี้ยังมี Corona-Warn-App เป็นแอปพลิเคชันที่ทางเยอรมนีพัฒนาออกมาในช่วงโควิด-19 ที่นอกจากจะใช้ติดตามการใกล้ชิด หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อได้แล้ว ยังสามารถค้นหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับโควิด-19 ได้ด้วย
● TraceTogether แจ้งเตือนข้อมูลผู้ติดเชื้อ พร้อมการกักตัว โดย ‘สิงคโปร์’ ประเทศอาเซียนหนึ่งเดียวที่ติดท็อปโลกด้านระบบสุขภาพ
สิงคโปร์ นับเป็นประเทศที่มีการบริการด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากประเทศหนึ่งก็ว่าได้ เพราะมีระบบประกันสุขภาพตามกฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก มีการรักษาแบบครอบคลุมตามกฎหมาย และรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณ โดยประชาชนผู้ที่จะเข้ารับการรักษาต้องลงทะเบียน General Practitioner (GP) เป็นรายบุคคล
สำหรับการให้บริการด้านสุขภาพผ่านระบบดิจิทัล สิงคโปร์ ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยต่อข้อมูลประชาชนอย่างมาก โดยออกแนวทางด้านกฏหมายบังคับใช้เพื่อลดภัยคุกคามทางดิจิทัล และจัดระเบียบข้อมูลต่างๆ รวมทั้งยังนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพของประชาชนผ่านระบบดิจิทัล โดยร่วมมือพัฒนาจากหลากหลายหน่วยงานของสิงคโปร์ และมีการจัดทำคำแนะนำการใช้งานโดยละเอียดสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
นอกจากนี้ สิงคโปร์ ยังมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยพัฒนาระบบเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนต่อเนื่อง ยกตัวอย่างช่วงวิกฤตโควิด-19 เปิดตัวแอปพลิเคชัน TraceTogether ที่ใช้สัญญาณบลูทูธ แจ้งเตือนให้ผู้ใช้แอปฯ ทราบถึงผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในบริเวณใกล้เคียง และประกาศเกี่ยวกับการกักตัวในสิงคโปร์ ผู้ที่ได้รับต้องอัปเดตตำแหน่งที่อยู่ของตนภายใน 1 ชั่วโมงผ่านตำแหน่ง GPS ของโทรศัพท์มือถือ
● covid-19 vaccination certificate ใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดย ‘ญี่ปุ่น’ ประเทศแห่งนวัตกรรม Top10 ด้านสุขภาพ
การรักษาพยาบาลของประเทศญี่ปุ่นถือว่าเข้าขั้นดีเยี่ยม เห็นได้จากอายุขัยของคนในประเทศที่ยืนยาวมากๆ ประเทศหนึ่ง โดยระบบสาธารณสุขของญี่ปุ่นสำหรับคนทำงานแบบเต็มเวลาเรียกว่า Social Health Insurance หรือ SHI หากอยู่นอกระบบ SHI ก็จะได้รับความคุ้มครองผ่านแผนประกันสุขภาพแห่งชาติของญี่ปุ่น หรือ NHI แทน
เมื่อปีที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นทุ่มงบกว่า 1 แสนล้านเยนเพื่อปฏิรูประบบข้อมูลที่จำเป็นต่อการปรับตัวเข้าสู่การเป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ ส่งเสริมการใช้ข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลเพื่อการรักษาพยาบาล นอกจากนี้ยังมีการเสนอแนวคิด AI Hospitals หรือโรงพยาบาล AI ขึ้น เพื่อทำให้การรักษา การเข้าพบแพทย์ การตรวจ การนำข้อมูลผู้ป่วยมาใช้ และการผ่าตัดเป็นไปได้ง่ายมากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกการทำงานของโรงพยาบาลมากขึ้น ซึ่งนโยบายโรงพยาบาล AI ดังกล่าว รัฐบาลลงทุนงบไปกว่า 1 หมื่นล้านเยน
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีแอปพลิเคชัน “covid-19 vaccination certificate” หรือ “ใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19” เพียงกรอกเลข “My Number” ที่เป็นเลขการระบุตัวตนที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนด แอปฯ ก็จะแสดงข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนทั้งหมด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้บนระบบคลาวด์ที่รัฐบาลสร้างขึ้นด้วย ทั้งนี้แอปพลิเคชันดังกล่าวยังรองรับแค่เพียงภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น
● พัฒนาระบบ MOPH ID จัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ไม่มีบัตรประชาชน โดย ไทย ดาวรุ่งที่ 2 แห่งอาเซียนที่ EU การันตีใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ผ่าน ‘หมอพร้อม’
ย้อนไปปี 2559 ไทย เริ่มต้นเร่งสปีดนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาระบบสาธารณสุขคลื่นแรก ผ่านการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศสุขภาพหรือ e-Health รองรับรัฐบาลดิจิทัล ในแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2559-2561) โดยตั้งเป้าสร้างมาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพ และเชื่อมโยงข้อมูลกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการด้านสุขภาพสะดวก และง่ายมากที่สุด ร่วมด้วยช่วยให้การวินิจฉัยโรคเพื่อทำการรักษาได้อย่างแม่นยำมากที่สุด
เมื่อไทยเข้าถึง e-Health ได้มากขึ้นแล้ว แน่นอนว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดย่อมเป็นผู้รับบริการที่เข้าถึงแพทย์ได้ง่ายขึ้น และการจ่ายยาของเภสัชกรสะดวกมากขึ้น ขณะเดียวกันหากมีขั้นตอนที่เหมาะสม และรัดกุมแล้ว อาจเกิดการสั่งยาผ่านระบบออนไลน์ และสามารถนำส่งให้เภสัชกรสั่งจ่ายยาให้ได้แม้แต่ยาควบคุมพิเศษก็ตาม ล่าสุดจากข้อมูลยุทธศาสตร์สุขภาพดิจิทัล กระทรวงสาธารณสุข (2564– 2568) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำระบบ National Refer Data Exchange (nRefer) เพื่อเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสถานพยาบาล และติดตามสถานะการรักษา อีกทั้งยังเริ่มต้นพัฒนาระบบ MOPH ID เพื่อใช้แทนตัวบุคคลเพื่อความมีเสถียรภาพในการจัดเก็บข้อมูลของกลุ่มผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยต่างด้าว หรือกลุ่มที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนด้วย
สำหรับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) หน่วยงานรัฐ ที่มุ่งยกระดับชีวิตคนไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมมีเป้าหมายปี 2565 ในการขยายความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์แก้ไขปัญหาของสังคมก้าวสู่โลกดิจิทัลอย่างมั่นใจ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำ e-Health มาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการรักษาพยาบาลในประเทศไทย โดยล่าสุดเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา ETDA ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงาน และสภาอุตสาหกรรม พัฒนาระบบ MOPH Certificate ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ที่ประกอบด้วยเทคโนโลยี Digital Signature หรือลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะผ่านการเข้ารหัสลับที่สามารถยืนยันตัวตนบุคคลได้อย่างปลอดภัย พร้อมส่งเสริมให้เกิดการใช้ในสถานประกอบการ ทั้งในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน
นอกจากนี้ ETDA ยังทำหน้าที่หลักร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ดูแลดังนี้ 1. ร่วมให้คำแนะนำในการพัฒนาระบบออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล และกระบวนการออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และมีมาตรการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ในการนำใบรับรองแพทย์ดิจิทัลนี้ไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. หน่วยงานที่ใช้ใบรับรองแพทย์ดิจิทัล สามารถตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและลายมือชื่อได้ ทำให้ระบบมีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือตามมาตรฐานสากล ช่วยป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลและความเสียหายทางอาชญากรรมอิเล็กทรอนิกส์
จากการปรับใช้ e-Health ของในแต่ละประเทศที่มีแนวทางแตกต่างกันออกไป แน่นอนว่าล้วนเป็นแนวทางการดำเนินงานด้านสาธารณสุขที่เต็มไปด้วยข้อดีจำนวนมาก ดังนั้นหากดูเฉพาะ e-Health ในประเทศไทยแล้ว ก็นับเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้คนไทยมั่นใจต่อการทำงานสาธารณสุขมากขึ้น รวมถึงมั่นใจรับการเปิดประเทศท่องเที่ยว จึงขอสรุปประโยชน์ e-Health ที่คนไทยจะได้รับทิ้งท้าย 10 ข้อ ไว้ดังนี้
- เข้าถึงข้อมูลและบริการด้านสุขภาพได้ง่ายขึ้น มีความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และง่ายต่อการตรวจสอบ
- ขยายขอบเขตการให้บริการทางด้านสุขภาพของประชาชนให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น
- พัฒนาระบบการทำงานและศักยภาพของบุคลากรด้านสาธารณสุข ให้มีความทันสมัย
- ลดขั้นตอนในการทำงาน เกิดความสะดวกรวดเร็วในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน
- เพิ่มคุณภาพการให้บริการประชาชน
- ก่อให้เกิดการวิจัยสุขภาพทางดิจิทัล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วย
- ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพโดยรวม
- ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลรักษาได้ในที่ที่ปลอดภัย และทันท่วงที
- นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เชื่อมโยง และทำการวิจัยเพื่อการศึกษาต่อไปได้
- ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคอุตสาหกรรมของไทยและเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเจริญเติมโตอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ไทย เป็นประเทศหนึ่งที่ก้าวหน้าทางการแพทย์ มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้กับระบบสาธารณสุข เพื่อเชื่อมต่อบริการให้ประชาชนได้รับประโยชน์ทางสุขภาพมากที่สุด แต่สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้เลยคือ การให้ความสำคัญกับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ที่จะเข้ามาช่วยให้การให้บริการมีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ในยุคที่ไม่ว่าอะไรก็รอไม่ได้เช่นนี้ และที่สำคัญอีกเรื่องคือ เมื่อทุกบริการต้องมีการเชื่อมต่อข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน แน่นอนว่า ไม่ว่าหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ต่างก็ต้องตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้เป็นอย่างดี สอดคล้องตามกฎหมาย เพื่อให้การขับเคลื่อนการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ เกิดการขยายวงกว้างในการใช้งานมากยิ่งขึ้นในอนาคต