กกร.จ่อยื่นหนังสือถึงนายก ขอลดค่าไฟฟ้า

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานร่วมประชุมและแถลงข่าว ณ ห้องประชุม 209 ABCD ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

  • วิกฤตสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลให้ตลาดการเงินมีความผันผวนและเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวมากขึ้น แม้ว่าทางการของสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ จะเข้ามาช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาอย่างรวดเร็ว ไม่ให้เกิดการลุกลามเหมือนวิกฤตสถาบันการเงินปี 2551 แต่คาดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกไปแล้ว โดยนักลงทุนมองโอกาสเกิด Recession ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นไปได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากภาคการเงินมี risk appetite ในการปล่อยสินเชื่อลดลง เกิดภาวะการเงินตึงตัว และตลาดการเงินอ่อนไหวต่อทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นมากกว่าเดิม โดยตลาดเริ่มคาดหวังให้ Fed ลดดอกเบี้ยภายในปีนี้ ทั้งนี้ ประเมินว่าผลกระทบทางตรงต่อภาคการเงินไทยมีน้อยมาก
  • เศรษฐกิจจีนมีสัญญาณฟื้นตัว แต่อานิสงส์ยังจำกัดอยู่ในประเทศ อุปสงค์ภายในประเทศของจีนมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนภายหลังการเปิดประเทศตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตและการส่งออกของจีนยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวแย่ลงในเดือนมีนาคม ทั้งการผลิตและแนวโน้มการส่งออก ไม่ต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาค ดังนั้น แนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยยังคงชะลอตัว และคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะหดตัวในปีนี้
  • เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากรายได้การท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ โดยภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นและถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโต นักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 เดือนแรกเข้ามาถึง 6.5 ล้านคน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจสูงถึง 27-30 ล้านคน ส่วนอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการจ้างงานในภาคบริการ และรายได้ภาคเกษตรที่ยังอยู่ในระดับดี ส่งผลให้ฐานรายได้ของประชาชนปรับตัวดีขึ้น ที่ประชุม กกร. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 เติบโตประมาณ 3.0% ถึง 3.5% ตามกรอบเดิมที่เคยประเมินไว้ และประเมินว่ามูลค่าการส่งออก มีโอกาสหดตัวในกรอบ-1.0% ถึง 0.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7 ถึง 3.2%

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ของ กกร.
(ณ ก.พ. 66) ปี 2566
GDP 3.0 ถึง 3.5
ส่งออก 1.0 ถึง 2.0
เงินเฟ้อ 2.7 ถึง 3.2

(ณ มี.ค. 66) ปี 2566
GDP 3.0 ถึง 3.5
ส่งออก -1.0 ถึง 0.0
เงินเฟ้อ 2.7 ถึง 3.2

(ณ เม.ย. 66)
GDP 3.0 ถึง 3.5
ส่งออก -1.0 ถึง 0.0
เงินเฟ้อ 2.7 ถึง 3.2

ที่ประชุม กกร. มีความกังวลต่อทิศทางการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอาจเผชิญแรงกดดันจากค่าเงินที่ผันผวนในทิศทางแข็งค่า ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก จึงมีความคิดเห็นว่า ควรเร่งดำเนินการจัดหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) กลุ่มประเทศเอเชียกลาง เป็นต้น เพื่อชดเชยการส่งออกไปยังตลาดหลักที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง

สืบเนื่องจาก ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ครั้งที่ 15/2566 (ครั้งที่ 843) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟที (Ft) และได้พิจารณากรณีศึกษาการปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 โดยมีมติเห็นชอบค่า Ft เป็นอัตราเดียวกันสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยและผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เท่ากับ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย กกร. มีความเห็นว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ควรพิจารณาทบทวนค่า Ft งวดที่ 2 เพื่อเป็นการลดภาระของภาคประชาชนในครัวเรือน และภาคธุรกิจ โดยมีเหตุผล ดังนี้
1.จากสถานการณ์ราคาพลังงานทั่วโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเร่งคืนหนี้ค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากเดิมที่มีแผนคืนให้ในระยะเวลา 3 ปี (ตามงวด 1/2566) และเปลี่ยนเป็น 2 ปี (ตามงวด 2/2566) อาจเร็วเกินไป จนส่งผลกระทบต่อภาระของประชาชน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ กกร.จึงเสนอให้ คงระยะเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ. เป็นระยะ 3 ปี ตามงวด 1/2566
2.ควรพิจารณาปรับวิธีประมาณการราคาตันทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและราคา LNG ที่ใช้คำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยใช้ราคาที่สะท้อนแผนการนำเข้า LNG ในช่วง พฤษภาคม- สิงหาคม 2566 แทนการใช้ข้อมูลราคาของเดือน มกราคม 2566 ซึ่งมีราคาที่สูงกว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบราคาไฟฟ้าของทุกภาคส่วนลงได้
นอกจากนี้ขอให้ภาครัฐเร่งจัดตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมี ส่วนร่วมให้ความเห็นในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานรวมถึงมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานต่างๆ เพื่อให้สามารถบรรเทาผลกระทบต่อทุก ภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคผู้ประกอบการรายย่อยได้อย่างแท้จริงและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

การขยายอายุมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ธปท.ร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบจากครม. เห็นควรให้ขยายเวลามาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อเพื่อการปรับตัวต่อไปอีก 1 ปีจนถึงวันที่ 9 เมษายน 2567 เพื่อให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องและเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจที่ต้องการปรับตัว โดยไม่มีการขยายอายุโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เนื่องจากกลุ่มธุรกิจเริ่มฟื้นตัวและสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินได้ ทั้งนี้เห็นควรให้โอนวงเงินคงเหลือของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการมารวมไว้ภายใต้มาตรการสินชื่อพื้นฟูต่อไป ทำให้วงเงินมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู จะเป็นประมาณ 45,000 ล้านบาท

พรก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 พรก.ฉบับนี้เป็นเครื่องมือสำคัญ ทำให้การจัดการภัยการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 และมีผลตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 โดยสมาคมธนาคารไทย ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานในเรื่องต่างๆ ของธนาคารให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยการดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้ติดตามเส้นทางเงินและอายัติเงินของผู้เสีบหายในระบบ ทำได้เร็วขึ้นและจัดการผู้ต้องสงสัยและบัญชีม้าภายในภาคธนาคารให้ลดลง ซึ่งจะทำให้โอกาสที่ภัยทางการเงินจะเกิดขึ้นน้อยลงด้วย

Scroll to Top