กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งฝึกทักษะช่างเชื่อมให้กับเยาวชนและแรงงานทั่วไป 3 จังหวัดชายแดนใต้ เร่งส่งออกสู่ตลาดซาอุ

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า จากการลงนามความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการจัดหาแรงงานเพื่อไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย ระหว่างกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย สามารถสร้างความตื่นตัวแก่เยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนนับถือศาสนาอิสลาม กรมพัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งมีความพร้อมด้านหลักสูตรฝึกอบรม สถานที่ เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์การฝึกอบรม จึงขานรับนโยบาย และข้อสั่งการของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยจัดฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน ให้กับเยาวชนและแรงงานทั่วไปใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) ได้แก่ สพร. 23 ปัตตานี สพร 24 ยะลา และสพร. 25 นราธิวาส ดำเนินการฝึกอบรมทักษะด้านช่าง เน้นเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน การใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนนิสัยอุตสาหกรรม ใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 2 – 6 เดือน โดยฝึกอบรมในหน่วยฝึกและฝากฝึกงานในสถานประกอบกิจการเพื่อฝึกปฏิบัติงานจริง ในปี 2564 ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ดำเนินการฝึก สาขาช่างเชื่อมไปแล้ว 151 คน และปี 2565 ฝึกช่างเชื่อมไปแล้ว 197 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2565)

นายประทีป ทรงลำยอง กล่าวต่อไปว่า เยาวชนและแรงงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้ความสนใจเข้าฝึกอบรม เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่ฝึกจบแล้วจะหางานทำในพื้นที่ และมีบางส่วนสนใจไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ผ่านการฝึกช่างเชื่อม อีกทั้งในขณะนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ประชาสัมพันธ์ความต้องการรับแรงงานไปทำงานในต่างประเทศ ในตำแหน่งช่างเชื่อม จึงได้รับรายงานจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ว่ามีเยาวชนสนใจจะไปทำงานต่างประเทศ โดยลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไปทำงานต่างประเทศกับกรมการจัดหางานแล้ว อาทิ สพร.23 ปัตตานี เปิดฝึกอบรมช่างเชื่อมอาร์คโลหะด้วยมือ ระยะเวลาฝึก 4 เดือน ฝากฝึกในสถานประกอบกิจการอีก 2 เดือน หลังจากนี้จะติดตามและประสานงานกับกรมการจัดหางานให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมเพื่อไปทำงานต่างประเทศอีกครั้ง

นายวารินทร์ สองเมือง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 23 ปัตตานี กล่าวเสริมว่า การสานสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสของแรงงานใน 3 จังหวัด เนื่องจากมีขนบธรรมเนียม ศาสนาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน แรงงานสามารถปรับตัวได้ง่าย ปัจจุบัน สพร.23 ปัตตานี กำลังฝึกทักษะด้านช่างเชื่อมอาร์คโลหะด้วยมือให้เยาวชนที่สนใจไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย จำนวน 3 คน โดยมีนายอาสมาน ลาเตะ ครูฝึกฝีมือแรงงาน ช.3 เป็นผู้ฝึกสอน และได้ฝึกทักษะด้านเชื่อมทิกเพิ่มเติมให้อีกด้วย เพื่อให้มีทักษะสูงขึ้นและพร้อมที่จะไปทำงานที่ซาอุ และเมื่อฝึกจบแล้วจะดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อทดสอบว่าฝีมืออยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ จะได้มีใบการันตีความสามารถและใช้ประกอบการเข้าทำงานด้วย ทั้งนี้ยังมีศิษย์เก่าแจ้งความประสงค์และลงทะเบียนไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เพิ่มเติมอีก จำนวน 3 คน

นายมูฮัมหมัด อิสมิง อายุ 21 ปี และนายอะหมัด ดือราแม อายุ 25 ปี ผู้ผ่านการฝึกสาขาช่างเชื่อมอาร์คโลหะด้วยมือ เล่าว่า มีความสนใจเกี่ยวกับงานเชื่อมไฟฟ้าจึงสมัครเข้ารับการฝึกอบรมที่สพร.23 ปัตตานี และได้ทราบข่าวการรับสมัครแรงงานไทย ไปทำงานในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศซาอุดีอาระเบีย ในตำแหน่งช่างเชื่อม จึงสนใจจะไปหาประสบการณ์ ครอบครัวก็สนับสนุน อีกทั้งตนเองและเพื่อนนับถือศาสนาอิสลาม วิถีการใช้ชีวิต การกินอยู่ ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมก็คล้ายคลึงกัน จึงคิดว่าไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก แตกต่างจากการไปทำงานในประเทศอื่น ที่ต้องเรียนรู้ภาษาและการดำเนินชีวิตที่ยากลำบากกว่า และที่สำคัญก็อยากมีสักครั้งที่จะได้มีโอกาสไปประกอบพิธีฮัจย์ที่เมืองมักกะฮ์ด้วย จึงได้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์กับสำนักงานจัดหางานจังหวัดปัตตานี และระหว่างรอเรียกตัวจึงเข้ามาฝึกทักษะด้านเชื่อมทิกเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการเดินทางไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อแจ้งความประสงค์กับสำนักงานจัดหางานหรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ toea.doe.go.th และสามารถสมัครเข้ารับการฝึกอบรมหรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานได้ที่หน่วยงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

Scroll to Top