โนบิทเทอร์ จับมือ 3 มหาวิทยาลัยดัง ปฏิวัติวงการเกษตรไทย สู่ยุค “ฟาร์มแนวตั้ง” อัจฉริยะ

โนบิทเทอร์ จับมือ 3 มหาวิทยาลัยดัง ปฏิวัติวงการเกษตรไทย สู่ยุค “ฟาร์มแนวตั้ง” อัจฉริยะ

โนบิทเทอร์ ผนึกกำลัง จุฬาฯ ลาดกระบัง และปัญญาภิวัฒน์ เดินหน้าวิจัย “ฟาร์มแนวตั้ง” (Vertical Farming) ยกระดับเกษตรไทยสู่เวทีโลก มุ่งสู่เกษตรแม่นยำ ใช้เทคโนโลยี IoT, AI และ Big Data เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน แก้ปัญหาสภาพอากาศ สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ พร้อมรับมือความท้าทาย ปูทางสู่ความยั่งยืน

ในยุคที่โลกเผชิญกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนทรัพยากร และความต้องการอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ภาคการเกษตรจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรม การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ

ล่าสุด บริษัท โนบิทเทอร์ จำกัด (noBitter) ผู้บุกเบิกนวัตกรรมการเกษตรแนวตั้งเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย ได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อพัฒนานวัตกรรมการเกษตรแนวตั้ง (Vertical Farming) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการปลูกพืชในแนวดิ่ง โดยใช้พื้นที่น้อย แต่ให้ผลผลิตสูง และสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้อย่างแม่นยำ

ร.วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โนบิทเทอร์ จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการปฏิวัติวงการเกษตรไทย โดย “ฟาร์มแนวตั้ง” จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้น้ำและทรัพยากร รวมถึงลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัย และคุณภาพสูง ที่ตอบโจทย์ตลาดทั้งในประเทศและทั่วโลก

นอกจากนี้ โครงการนี้ยังมีเป้าหมายที่จะสร้างศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farmer) สำหรับนิสิตและนักศึกษา เพื่อพัฒนานวัตกรเกษตรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) และนักวิจัยที่เชี่ยวชาญ พร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยการใช้วัสดุและทรัพยากรท้องถิ่นในระบบฟาร์มแนวตั้ง รวมถึงลดการนำเข้าอาหาร และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระยะยาว พร้อมยกระดับความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.ประณัฐ โพธิยะราช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความร่วมมือกับโนบิทเทอร์ ช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตพืชในโรงเรือน และการใช้ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ในการควบคุมสิ่งแวดล้อม ผลงานที่ได้จะช่วยยกระดับคุณภาพอาหารและสุขภาพของผู้บริโภค นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในปัจจุบัน โครงการนี้มุ่งเตรียมความพร้อมให้นิสิตได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง ช่วยขยายมุมมองการเรียนรู้ในห้องเรียนให้กว้างขวางขึ้น แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตในการพัฒนาองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการพัฒนานโยบายและแนวทางด้านพฤกษศาสตร์ระดับชาติในอนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

มนตรี คงตระกูลเทียน คณบดีคณะเกษตรนวัตและการจัดการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Plant Factory และเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ที่พัฒนาโดยคนไทย เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาในการพัฒนานวัตกรรมเกษตรในอนาคต ความร่วมมือนี้จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพทางการตลาดส่งออกของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ซึ่งประเทศไทยในปี 2566 มีสมุนไพรส่งออกมูลค่าสูงถึง 56 พันล้านบาท ผลของการสร้างรายได้มหภาคสำหรับมูลค่าการส่งออกปี 2566 พืชสมุนไพรมีมูลค่า 483 ล้านบาท และสารสกัดสมุนไพรมีมูลค่า 382 ล้านบาท และยังช่วยในมิติของสิ่งแวดล้อม โดยระบบ Plant Factory ที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะโลกรวน ช่วยลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมี และเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย พร้อมสร้างศักยภาพให้เกษตรกรแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยเป้าหมายของสถาบันฯ คือการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเชิงเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ตลอดจนการแปรรูปพืชผลให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาดสากล

รองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวไปสู่การเกษตรแบบแม่นยำ (Precision agriculture) โดยใช้เทคโนโลยีและการจัดการข้อมูลเพื่อการวางแผนและบริหารจัดการฟาร์มของเกษตรกร เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น IoT, AI และ Big Data มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยระบบเซนเซอร์และระบบวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยให้เกษตรกรตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ระบบ Controlled-Environment Agriculture (CEA) และ Vertical Farm เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเกษตรของไทย โดยช่วยลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและศัตรูพืช รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้น้ำลงถึง 90% เมื่อเทียบกับการเกษตรทั่วไป นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง และสร้างโอกาสใหม่ในตลาดด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งนับเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับการเกษตรไทยในอนาคต

ความร่วมมือระหว่างโนบิทเทอร์ และ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาภาคการเกษตรไทย สู่ยุค “ฟาร์มแนวตั้ง” อัจฉริยะ ที่ใช้เทคโนโลยี IoT, AI และ Big Data ในการบริหารจัดการ เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อยกระดับเกษตรกรไทย และผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการเกษตรในระดับโลก

#โนบิทเทอร์ #noBitter #ฟาร์มแนวตั้ง #VerticalFarming #เกษตรอัจฉริยะ #SmartFarming #IoT #AI #BigData #จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย #ลาดกระบัง #ปัญญาภิวัฒน์ #นวัตกรรมเกษตร #เกษตรไทย #ความยั่งยืน

SPU ชี้เทรนด์โลจิสติกส์ 2025 เดินหน้า Digital Supply Chain ผสาน AI ยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางโลจิสติกส์เอเชีย

Scroll to Top