“แสตมป์ กระจกเกรียบ” ศิลปะล้ำค่าแห่งสยาม ไปรษณีย์ไทยเปิดตัวแสตมป์ที่ระลึก วันอนุรักษ์มรดกไทย 2568 ดันไทยสู่สายตาโลก

"แสตมป์ กระจกเกรียบ" ศิลปะล้ำค่าแห่งสยาม ไปรษณีย์ไทยเปิดตัวแสตมป์ที่ระลึก วันอนุรักษ์มรดกไทย 2568 ดันไทยสู่สายตาโลก

ไปรษณีย์ไทย ได้เปิดตัวแสตมป์ที่ระลึกชุดพิเศษเนื่องในโอกาสวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2568 ด้วยการนำเสนอศิลปกรรมอันทรงคุณค่าที่กำลังจะเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ นั่นก็คือ “กระจกเกรียบ” ศิลปะแห่งสยามประเทศที่มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์แต่กลับหาชมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน โดยมีกำหนดการเปิดจำหน่ายทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2568 เป็นต้นไป ในราคาดวงละ 5 บาท และแผ่นตราไปรษณียากรที่ระลึกชุดละ 40 บาท ณ พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน(BTS สถานีสะพานควาย) ที่ทำการไปรษณีย์ในกรุงเทพมหานคร และที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดทุกแห่ง หรือสามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ ThailandPostMart ตอกย้ำความตั้งใจของไปรษณีย์ไทยที่มุ่งมั่นจะเป็นเสมือนสื่อกลางในการเผยแพร่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ต่อไป

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ทางไปรษณีย์ไทยมีความตั้งใจที่จะเป็นเสมือนกระบอกเสียงที่จะประกาศให้ชาวโลกได้ประจักษ์ถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และความงดงามทางศิลปะและวัฒนธรรมของไทย โดยใช้แสตมป์ที่ระลึกเป็นสื่อกลางที่ทรงพลัง แม้จะมีขนาดเล็กก็ตาม และสำหรับ “แสตมป์ กระจกเกรียบ” ในชุดวันอนุรักษ์มรดกไทยในปีนี้ ทางไปรษณีย์ไทยมีความภูมิใจนำเสนอผลงานของ ดร.รัชพล เต๋จ๊ะยา ครูช่างศิลปหัตถกรรม พุทธศักราช 2565 ที่ได้ออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันประณีตที่มีความเสี่ยงต่อการถูกลืมเลือน และมีกรรมวิธีการผลิตที่สลับซับซ้อน โดยในแสตมป์ชุดนี้จะประกอบไปด้วยภาพทั้งหมด 4 ภาพ ได้แก่ ภาพแรกเป็นภาพหน้าบันจำหลักไม้ลายดอกพุดตาน ภาพที่ 2 เป็นภาพซุ้มลวดลายปูนปั้นพรรณพฤกษา และฐานชุกชี วัดโตนด อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ภาพที่ 3 เป็นภาพหัวโขนพระนารายณ์ และภาพสุดท้ายเป็นภาพลายกุดั่นปูนปั้นพระเขนยพระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทั้งนี้ ทางไปรษณีย์ไทยมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแสตมป์ชุดนี้จะสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนให้ประชาชนชาวไทยตระหนักถึงความสำคัญของศิลปกรรมแขนงนี้มากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ต่อไปยังชั่วลูกชั่วหลาน

นอกจากนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการฟื้นฟูศิลปกรรมแขนงนี้ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปีพุทธศักราช 2566 ไว้ว่า “กระจกเกรียบถือเป็นงานศิลปกรรมแห่งยุครัตนโกสินทร์ที่เกือบจะสูญหายไปแล้ว แต่วันนี้ได้มาเห็นกระจกเกรียบที่ใช้ความรู้สมัยใหม่ ทำให้ยินดีว่ากระจกเกรียบอย่างโบราณฟื้นคืน อันจะเป็นประโยชน์ต่องานอนุรักษ์ การบูรณะราชภัณฑ์และโบราณสถานต่างๆ”

“กระจกเกรียบ” เป็นศิลปะที่มีความโดดเด่นและแตกต่างจากกระจกทั่วไป ด้วยกรรมวิธีการหุงและผสมสีกระจกที่ใช้ความร้อนสูงเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เกิดสีสันที่งดงามสะท้อนแสงอย่างมีมิติ โดยศาสตร์แขนงนี้ถูกนำมาใช้ในการตกแต่งศาสนสถาน พระราชวัง และเครื่องใช้ของชนชั้นสูงในอดีต เช่น ราชภัณฑ์ ตู้พระธรรม ธรรมาสน์ หัวโขน หน้าบันโบสถ์ และฐานองค์พระพุทธรูป ซึ่งนับเป็นมรดกแห่งภูมิปัญญาไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ โดยศิลปะกระจกเกรียบนี้สามารถสืบค้นได้ตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย และรุ่งเรืองที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 3 ทว่าหลังจากที่อิทธิพลตะวันตกเข้ามามีบทบาทในสยามในช่วงรัชกาลที่ 5 ศิลปกรรมไทยประเพณีเริ่มลดบทบาทลง ส่งผลให้ความรู้เรื่องการผลิตกระจกเกรียบแทบจะเลือนหายไป เหลือเพียงช่างฝีมือไม่กี่กลุ่มที่ยังคงรักษาสูตรลับในการหุงกระจกเกรียบเอาไว้

“แสตมป์ กระจกเกรียบ” ที่ระลึกชุดวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2568 ไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องหมายแห่งความงดงามทางศิลปะ แต่ยังเป็นสื่อที่ช่วยส่งต่อคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมไทยให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ และร่วมกันอนุรักษ์สืบต่อไป โดยทุกท่านสามารถจับจองเป็นเจ้าของแสตมป์ชุดนี้ได้ในราคาดวงละ 5 บาท แผ่นตราไปรษณียากรที่ระลึกชุดละ 40 บาท และซองวันแรกจำหน่าย 35 บาท ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2568 เป็นต้นไป ณ พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน (BTS สถานีสะพานควาย) ที่ทำการไปรษณีย์ในกรุงเทพมหานคร และที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดทุกแห่ง หรือซื้อทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ThailandPostMart

Oo La Lab เปิดตัวสตูดิโอ ชวนสัมผัสประสบการณ์ปรุงกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใจกลางศาลาแดง

Scroll to Top