รายงานข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับทองคำค้าปลีกประเทศไทย (Retail Gold Insights : Thailand report) ฉบับล่าสุดจากสภาทองคำโลก (World Gold Council) เผย ผู้บริโภคชาวไทยมีความเข้าใจในการลงทุน โดยมีการนำรายได้ร้อยละ 35 มาลงทุุนในทอง และผู้ลงทุนมีผลิตภัณฑ์การลงทุุนเฉลี่่ย 3.5 รายการ ทั้งนี้ นักลงทุนมองว่าตนเองเป็นนักลงทุนที่มีความมั่นใจ และเต็มใจที่จะลองลงทุนในหลายรูปแบบเพื่อแลกกับการเติบโตทางการเงินแบบทวีคูณ
87% ของนักลงทุนไทยเห็นด้วยว่า การมีพอร์ตลงทุนที่หลากหลายเพื่อช่วยปกป้องความมั่งคั่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เนื่องจากนักลงทุนชาวไทยมีความกังวลถึงภาวะตลาดการเงินล่ม พวกเขาจึงต้องการทำความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ที่เลือกลงทุน และมีมุมมองในการลงทุนระยะยาว
ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า ทองคำเป็นการลงทุนที่นิยมมากที่สุดเป็นอันดับสองในพอร์ตการลงทุนของประเทศไทย และกว่าครึ่งหนึ่งของนักลงทุนรายย่อยในประเทศได้ถือครองทองคำในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยการลดความเสี่ยงเป็นปัจจัยหลัก (57%) ที่กระตุ้นให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนในทองคำ แนวโน้มเช่นนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า นักลงทุนรายย่อยตระหนักถึงบทบาทของทองคำในฐานะผลิตภัณฑ์ลงทุนที่มีความปลอดภัย ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับบทบาทของทองคำในพอร์ตการลงทุน ที่ถือเป็นเครื่องมือช่วยปกป้องความมั่งคั่ง
นักลงทุนกว่า 40% ได้ซื้อทองคำเพื่อการลงทุนในช่วง 12 เดือนก่อนการสำรวจ โดยทองคำแท่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% ของนักลงทุน ตามด้วยเหรียญทองคำที่ 12% กองทุนทอง (ETF) ที่ 10% ทองคำเก็บในคลังนิรภัยที่ 9% และเครื่องประดับทองคำที่ 9%
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีอุปสรรคที่ทำให้นักลงทุนที่สนใจยังลังเลที่จะลงทุนในทองคำเป็นครั้งแรก
- เกือบ 80% ของนักลงทุนกลุ่มนี้เผยว่า พวกเขายังไม่มีความรู้มากพอที่จะซื้อทองคำ และไม่ทราบถึงช่องทางในการซื้อทองคำที่มีราคาไม่แพง โดยอุปสรรคที่เด่นชัดที่สุดคือ พวกเขาเชื่อว่าทองคำนั้น “มีค่าธรรมเนียมการซื้อ/ขายทองคำสูงเกินไป”
- เกือบครึ่งหนึ่งกังวลถึงความสมบูรณ์ของผลิตภัณฑ์ทองคำ โดยมากกว่า 30% ระบุว่ากลัวถูกหลอกให้ซื้อทองคำปลอม จึงเลือกที่จะไม่ซื้อ และกว่า 10% ชี้ว่าตนไม่กล้าซื้อ เพราะยังไม่มีการรับประกันถึงความบริสุทธิ์ของทองคำ
- มากกว่าหนึ่งในสามของนักลงทุนที่คิดจะลงทุนในทองคำเป็นครั้งแรกคิดว่าตนจะไม่สามารถเก็บทองคำไว้ได้อย่างปลอดภัย โดยนักลงทุนกลุ่มนี้อาจยังไม่ทราบถึงช่องทางและบริการการจัดเก็บทองคำที่มีอยู่
กลุ่มนักลงทุนรายย่อย 4 ประเภทในประเทศไทย
การศึกษาวิจัยยังเจาะลึกถึงกลุ่มนักลงทุนรายย่อยสี่ประเภทในประเทศไทย ได้แก่ นักลงทุนที่กล้าเสี่ยงโดยยึดตามคำแนะนำ (Guided Risk Takers) เทรดเดอร์ที่ชอบความผันผวน (Adventurous Traders) นักกลยุทธ์เชิงอไจล์ (Agile Strategists) และนักออมที่ระมัดระวัง (Cautious Savers)
- 35% เป็นนักลงทุนที่กล้าเสี่ยงโดยยึดตามคำแนะนำ ซึ่งยอมรับความเสี่ยงเพื่อให้สามารถเติบโตได้แบบทวีคูณ และนักลงทุนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยกังวลกับการสร้างพอร์ตการลงทุนที่มีความหลากหลาย
- 26% เป็นเทรดเดอร์ที่ชอบความผันผวน ซึ่งต้องการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เห็นผลในระยะสั้น และมักจะชอบเป็นผู้ที่ได้ลองอะไรใหม่ ๆ นักลงทุนกลุ่มนี้มักเป็นนักลงทุนรายแรก ๆ ที่จะเลือกการลงทุนแบบใหม่
- 26% เป็นนักกลยุทธ์เชิงอไจล์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมมากที่สุด โดยพวกเขากลุ่มนี้มองการลงทุนเป็นงานอดิเรก และมุ่งเน้นที่จะสร้างพอร์ตการลงทุนที่หลากหลาย เพื่อปกป้องและเพิ่มความมั่งคั่ง นอกจากนี้ พวกเขายังมักที่จะลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ตนเองเข้าใจอย่างชัดเจน
- 13% เป็นนักออมที่ระมัดระวัง โดยจะเลือกลงเงินน้อยที่สุดและไม่ชอบความเสี่ยงสูง พวกเขาจะเลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีความน่าเชื่อถือ และสิ่งที่จะมาช่วยลดความเสี่ยง รวมถึงให้ผลตอบแทนที่มั่นคงอันสามารถเก็บเป็นมรดกไว้ให้บุตรหลานของตนได้
มากกว่า 80% ของนักลงทุนรายย่อยแต่ละกลุ่มเห็นด้วยว่า ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ดี ซึ่งช่วยสร้างหลักประกันในช่วงที่เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองหรือเศรษฐกิจได้
ผลิตภัณฑ์ทองคำดิจิทัลเพื่อดึงดูดนักลงทุนรายย่อยเพิ่มและรักษาฐานนักลงทุนที่มีอยู่เดิม
ประการสุดท้าย งานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทองคำกว่า 73% ผ่านทางออฟไลน์ แต่เมื่อถามถึงปัจจัยของการเลือกซื้อทองคำแล้ว สาเหตุอันดับต้น ๆ ได้แก่ การขาย/เปลี่ยนทองเป็นเงินสดได้ง่าย ซื้อได้ตลอดเวลา และมีการสร้างผลกำไร
ผลิตภัณฑ์ทองคำดิจิทัล ไม่ว่าจะให้บริการโดยธนาคารหรือผู้ให้บริการรายอื่น จะช่วยให้ผู้ขายสามารถทำการตลาดและผู้ซื้อสามารถตัดสินใจซื้อได้อย่างครอบคลุมและราบรื่นยิ่งขึ้น
Andrew Naylor ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาค APAC (ไม่รวมประเทศจีน) ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ประเทศไทยมีตลาดทองคำขนาดใหญ่ที่มีการซื้อขายกันอย่างคึกคัก เกือบครึ่งหนึ่งของนักลงทุนรายย่อยในประเทศไทยเลือกที่จะลงทุนในทองคำ และทองคำนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่นิยมเป็นอันดับสองของไทย จากรายงานข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับทองคำค้าปลีกในประเทศไทย (Retail Gold Insights : Thailand report) ทำให้เข้าใจถึงอัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดหวัง ความต้องการในการลงทุน และพฤติกรรมการซื้อของนักลงทุนไทย รวมถึงแสดงให้เห็นว่า ทำไมนักลงทุนประเภทต่าง ๆ ในประเทศไทยถึงให้ความสนใจกับทองคำกันอย่างแพร่หลาย โดยสิ่งขับเคลื่อนสำคัญคือบทบาทของทองคำในฐานะเครื่องป้องกันความเสี่ยงในช่วงที่การเมืองหรือเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน
–KBank Private Banking ชี้การลงทุนอย่างยั่งยืนคือ “ทางรอด”
ประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ มีศักยภาพในการลงทุนมหาศาล อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนที่แข็งแกร่งจากการฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ทั่วโลกและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในระยะยาว ข้อมูลของเราแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความต้องการของนักลงทุนในการถือทองคำในฐานะที่เป็นการลงทุนที่ปลอดภัย แต่ยิ่งไปกว่านั้น เรายังได้ตระหนักรู้ถึงสิ่งอื่น ๆ ผ่านการศึกษานี้อีกด้วย การวิเคราะห์ของสภาทองคำโลกยังแสดงให้เห็นว่า ทองคำสามารถเป็นเครื่องปกป้องความมั่งคั่ง เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องและสามารถช่วยกระจายพอร์ตการลงทุนได้ เราจะเดินหน้าทำการวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้นักลงทุนเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนในทองคำและวิธีการในการลงทุน”