สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ 9 องค์กรในตลาดทุน ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินการด้านต่าง ๆ ในกรณีของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) พร้อมทั้งเปิดเผยแนวทางการดำเนินการเพื่อยกระดับธรรมาภิบาลและการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน
–TAN ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แฟชั่นลักชัวรี ยื่นไฟลิ่งเตรียม IPO ราว 77.5 ล้านหุ้น
ธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “กรณีนี้ ก.ล.ต. ได้มีการดำเนินการอย่างเต็มที่ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น สั่งให้บริษัทเปิดเผยข้อมูล ขยายขอบเขตการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เพิ่มเติม และการแจ้งเตือนผู้ลงทุน พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งขณะนี้การตรวจสอบมีความคืบหน้าไปมาก สำหรับด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้ลงทุน ก.ล.ต. ยินดีช่วยเหลือประสานงานอย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมาก็ได้มีการหารือร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยด้วยแล้ว และนอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังกำหนดแนวทางในการยกระดับการกำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนและเสริมสร้างบทบาทหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยได้ดำเนินการภายใต้โครงการ “บริษัทจดทะเบียนเข้มแข็ง” ซึ่งริเริ่มขึ้นเมื่อปลายปี 2565 และคาดว่าจะเสนอต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ในช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป”
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนมีข้อมูลที่ครบถ้วน เพียงพอ และทันเวลา ทั้งในด้านการติดตามให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลสำคัญ หรือการเตือนผู้ลงทุนด้วยการออกข่าวเตือน และ/หรือการขึ้นเครื่องหมายต่าง ๆ สำหรับที่จะดำเนินการต่อไป คือ ปรับกระบวนการทำงานและปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งด้านบริษัทจดทะเบียน และการซื้อขาย โดยมีหลายเรื่องที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีมติเห็นชอบไปแล้วไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงเกณฑ์และยกระดับการกำกับดูแลตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การรับหลักทรัพย์การดำรงสถานะ จนถึงการเพิกถอน รวมถึงจะยกระดับการกำกับดูแลการซื้อขาย เช่น มาตรการป้องปราม ตลอดจนผสานความร่วมมือเชิงรุกกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดโอกาสการเกิดกรณีเช่นนี้อีก”
กุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า “สมาคมทำหน้าที่ให้ความรู้ สร้างความตระหนัก ในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบแก่กรรมการบริษัทอย่างต่อเนื่อง สมาคมเชื่อมั่นว่ากรรมการบริษัทที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างที่ควรมีอยู่มากมาย กรณีของ STARK จะเป็นกรณีศึกษา เพื่อกรรมการและฝ่ายจัดการจะได้ไปสำรวจความรัดกุม และความเพียงพอของการกำกับดูแลกิจการ และการควบคุมภายในของบริษัทต่อไป”
สุพจน์ สิงห์เสน่ห์ เลขาธิการ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “สภาวิชาชีพบัญชีพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำรงไว้ซึ่งความเชื่อมั่นในวิชาชีพบัญชีและตลาดทุนไทย”
ไพศาล ธรสารสมบัติ กรรมการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า “สมาคมฯ เห็นว่ากฎเกณฑ์ที่กำกับบริษัทจดทะเบียนมีความเหมาะสมแล้ว ซึ่งบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติตามอยู่แล้ว สำหรับในส่วนของบริษัทจดทะเบียน การดูแลรายงานทางการเงิน โดยเฉพาะการกำกับดูและเรื่องรายการระหว่างกันที่มีขนาดที่มีนัยสำคัญ จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้บริหารของบริษัท และผู้ตรวจสอบภายใน ผู้สอบบัญชี รวมถึงคณะกรรมการตรวจสอบ และคณะกรรมการบริษัท ในกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียนควรต้องพิจารณาทำงานร่วมมือกับฝ่ายบริหารใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สมาคมฯ มีความยินดีที่จะให้ความร่วมกับหน่วยงานอื่นในตลาดทุนต่อไป”
สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า “เหตุการณ์แก้ไขงบที่เกิดขึ้นกับหุ้นSTARK นั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของ นักวิเคราะห์และนักลงทุนในฐานะเป็นผู้ใช้ข้อมูล ซึ่งแม้ว่านักวิเคราะห์จะมีความรอบคอบ และมีระบบการวิเคราะห์ที่รัดกุมเพียงใด ก็ไม่สามารถยืนยันถึงความถูกต้องของข้อมูล เนื่องจากอยู่ในสถานะที่เป็นเพียงผู้ใช้ข้อมูล จึงไม่เคยมีโอกาสที่จะได้เข้าถึงหลักฐานยืนยันรายการทางบัญชี แนวทางที่องค์กรต่าง ๆ จะร่วมกันคิดเพื่อป้องกันปัญหาแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นได้ง่าย คือต้องหาวิธีที่จะสามารถตรวจทานหลักฐานยืนยันรายการทางบัญชีให้มั่นใจได้มากขึ้น รวมถึงการมีหลักเกณฑ์ให้บริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่ ต้องมา Opportunity Day หรือการจัดประชุมนักวิเคราะห์อย่างทั่วถึง ปีละ 2-4 ครั้ง เพื่อให้นักวิเคราะห์และนักลงทุนสามารถซักถามสอบถามได้โดยตรง เพื่อประเมินความสมเหตุผลของข้อมูลและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในส่วนของสมาคมนักวิเคราะห์ฯ เองก็จะเพิ่มเติมการพัฒนาทักษะความสามารถของนักวิเคราะห์ ในด้านการคัดกรองข้อมูลและประเมินความสมเหตุผลตลอดจนทักษะในการตรวจจับจุดอันตรายในงบการเงิน เป็นต้น”
สมภพ กีระสุนทรพงษ์ ประธานกรรมการ ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า “ที่ผ่านมาที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวดในการกลั่นกรองคุณภาพของบริษัทที่จะออกและเสนอขายหลักทรัพย์ (IPO) เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน กรรมการและผู้บริหารมีคุณสมบัติที่เหมาะสม มีระบบการควบคุมภายในที่ดี เป็นต้น ซึ่งรวมถึงการให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์และรายการที่เกี่ยวโยงกันของบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ตาม มีบางบริษัทจดทะเบียนที่อาจจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ชมรมฯ จึงพร้อมร่วมหารือและสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงเกณฑ์และมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสมโดยยังรักษาสมดุลของการกำหนดเกณฑ์และไม่เป็นภาระกับบริษัทจดทะเบียนมากจนเกินไป ทั้งนี้ ชมรมฯ ยินดีให้การสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์ backdoor listing ให้มีความเข้มข้นมากขึ้นเทียบเท่ากับเกณฑ์ IPO ต่อไป”
ศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด กล่าวว่า “ทริสเรทติ้งจะปรับปรุงขั้นตอนในการคัดกรองผู้ออกตราสารใหม่ให้เข้มงวดมากขึ้น โดยจะเพิ่มความระมัดระวังสำหรับผู้ออกตราสารที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดย backdoor listing ผู้ออกตราสารที่ไม่มีประวัติในการสร้างธุรกิจด้วยตัวเองหรือเน้นสร้างการเติบโตจากการซื้อกิจการอื่น รวมถึงจะหลีกเลี่ยงการจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้กับผู้ออกตราสารที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือผู้บริหารที่มีประวัติหรือชื่อเสียงในทางลบทางด้านธรรมาภิบาล นอกจากนี้ทริสเรทติ้งจะเพิ่มการฝึกอบรมนักวิเคราะห์ ในส่วนเทคนิคการสังเกตลักษณะของงบการเงินที่น่าสงสัยว่ามีการตกแต่งงบการเงิน เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ความผิดปกติของงบการเงินและสถานะทางการเงินที่แท้จริงของผู้ออกตราสาร”
ชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคม สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า “อุตสาหกรรมจัดการลงทุนให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบของผู้จัดการกองทุน ในการดูแลปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหน่วยลงทุน โดย บลจ. ที่มีการลงทุนใน STARK มีความเห็นตรงกันในแนวทางการทำ class action และในฐานะนายกสมาคมฯ มองว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย ไม่เฉพาะเพียงอุตสาหกรรม จึงเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงาน ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้สอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัทจัดอันดับเครดิต นักวิเคราะห์ ฯลฯ จะต้องร่วมกันพิจารณาหาแนวทางป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนไทย”
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า “ThaiBMA ในฐานะของ Bond Information Center ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยประสานงานกับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และสำนักงาน ก.ล.ต. ในการให้ข้อมูลและประชาสัมพันธ์อย่างรวดเร็วกับผู้ลงทุนผ่านทางช่องทางออนไลน์ของสมาคมฯ นอกจากนี้เรายังได้ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับ เหตุแห่งการผิดนัดชำระหนี้ สิทธิของผู้ลงทุน หน้าที่และขั้นตอนการดำเนินงานของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ทั้งที่เป็นการตอบข้อสงสัยที่มีเข้ามา รวมถึงการสื่อสารกับสื่อมวลชนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนในอีกช่องทางหนึ่ง ThaiBMA เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรในตลาดทุนที่มุ่งมั่นที่จะร่วมกันรักษาและยกระดับความเชื่อมั่นในตลาดทุนในการให้ข้อมูลและความรู้ด้านตราสารหนี้ที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุน”
สิริพร จังตระกุล เลขาธิการ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย กล่าวว่า “เพื่อเป็นการช่วยในการรวมกลุ่มผู้เสียหาย จากการลงทุนในหุ้นสามัญ STARK สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย จึงเปิดระบบลงทะเบียนให้ผู้ลงทุนเข้ามาลงทะเบียน โดยคำนึงถึง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด และจะพิจารณาช่วยดำเนินการ รวมถึงอำนวยความสะดวกในขั้นตอนต่อไป กรณีที่มีการร้องขอให้มีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action”