ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในครึ่งหลังของปี 2023 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในระยะสั้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลง ชี้แรงขับเคลื่อนส่วนหนึ่งมาจากมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในปีนี้และปีหน้า แต่ยังมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ดีในระยะยาว
โฮมิน ลี Senior Macro Strategist, Lombard Odier กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจว่า คาดว่าปี 2023 ภาวะเงินเฟ้อจะเริ่มเป็นขาลงทั้งโลก ปี 2023 นี้เงินเฟ้อได้ถึงจุดสูงสุดแล้ว เพราะฉะนั้นปีหน้าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยต่อ แต่ภาพรวมยังถือว่าอยู่ในระดับสูง ด้านสหรัฐฯ อาจจะมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบหนึ่ง
ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยก่อนหน้านี้ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีกว่าที่คิด ด้านสหรัฐฯ น่าจะโตได้ต่ำกว่า 1% หากยังต้องรับกับภาวะดอกเบี้ยสูงเป็นเวลานาน
สำหรับสภาพคล่องทางธนาคารในสหรัฐฯ กับ ยุโรป ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในธุรกิจธนาคาร ด้านธนาคารเองก็ระมัดระวังกับการปล่อยกู้มากขึ้น
ส่วน จีน โมเมนตัมเริ่มดีหลังประกาศเปิดประเทศ สำหรับไตรมาสแรกตัวเลขออกมาดีมาก แต่ไตรมาส 2 เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว เพราะถึงแม้คนจีนจะมีเงินเก็บพร้อมจ่าย แต่ด้านการผลิตและภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้น
โฮมิน ลี คาดว่า โดยรวมการเติบโตของโลกจะอยู่ที่การหดตัวแบบอ่อนๆ หรือชะลอตัวแบบนุ่มนวล ซึ่งถือว่าดูดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
ด้าน ยานไค ฉ่าว Head of investment solution – Asia, Lombard Odier ให้ภาพรวมการลงทุนว่า ปี 2022 ที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์การลงทุน ตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนติดลบ สำหรับปี 2023 ที่ต่อเนื่องมา คาดว่าผลตอบแทนน่าจะดีขึ้น สอดคล้องจากการที่เห็นดอกเบี้ยกำลังผ่านจุดสูงสุด และ ณ จุดที่ปรับลดลดอัตราดอกเบี้ย นักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้จะได้ Capital gain เพิ่มมาด้วย
ด้านภาพรวมหุ้นสหรัฐในปีนี้ผลตอบแทนดีกว่าที่คิด แต่ต้องลงไปดูลึกขึ้นว่ามันมาจากธุรกิจใด ซึ่งปัจจุบันถูกขับเคลื่อนจากหุ้นเทคโนโลยีไม่กี่ตัว เพราะฉะนั้นนักลงทุนจะต้องระวัง เพราะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่ได้เติบโตตามเหตุการณ์ปกติ
ควรจัดการลงทุนอย่างไร?
ยานไค ฉ่าว กล่าวว่า ภายใต้การเติบโตแบบ Slow Growth ตราสารหนี้ยังได้ประโยชน์ และน่าลงทุน โดยเน้นไปที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเพราะมีโอกาสจะได้กำไรเพิ่มขึ้น และหลีกเลี่ยงการไปลงทุนในตลาดที่ผลตอบแทนสูงเพราะจะมีความเสี่ยงสูงตามมาด้วย
เน้นกระจายความเสี่ยงในหุ้น แนะให้ลงทุนหุ้นนอกสหรัฐฯ มากขึ้น เช่นตลาดยุโรป เอเชียเหนือและใต้ เพราะตลาดหุ้นสหรัฐถูกลากไปแค่บริษัทเทคโนโลยีไม่กี่ตัว แต่หากสนใจหุ้นสหรัฐ ให้เลือกหุ้นที่มี Quality stocks คือหุ้นที่มีผลกำไรสูง มีการกู้ยืมน้อย มีผลตอบแทนสูง เช่น โคคาโคล่า แมคโดนัลด์
ด้านหุ้นจีน เป็นอีกตลาดที่น่าใจในครึ่งปีหลัง เพราะคาดว่าทางรัฐบาลจีนจะมีการกระตุ้นเข้ามาเรื่อย ๆ
สำหรับตลาดทองคำ มีช่วงที่ปรับตัวสูงขึ้น น่าสนใจมากขึ้น แต่สถานะยังเป็น Underweight หรือลดน้ำหนักการลงทุน เพราะคาดว่าดอกเบี้ยกำลังจะถึงจุดพีค เศรษฐกิจมีแนวโน้มจะอ่อนแอลงบ้าง และค่าเงินดอลลาร์น่าจะอ่อนลง ทำให้การจ่ายเงินปันผลกลับมาดีขึ้น
ทั้งนี้ ยานไค ฉ่าว ยังแนะนำให้ลงทุ่มกับหุ้น Global Thematic หรือลงทุนเป็นธีมมากขึ้น เช่น ด้านพลังงานหมุนเวียน ด้านความยั่งยืน หรือมีผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ซึ่งเป็นกลุ่มหุ้นที่เดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจใหม่ นักลงทุนมีโอกาสได้ประโยชน์จากการเติบโต
จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงการจัดพอร์ตลงทุนว่า ปัจจุบัน Lombard Odier มีการจัดการลงทุนแบบสมดุล ทั้งสินทรัพย์ และตราสารหนี้ โดยสรุปพอร์ตจะมีการถือครองเงินสดอยู่ 4% ตราสารหนี้ 38% หุ้นนอก 45.7% และลงทุนทางเลือกอีก 12.5%
“เขาลดการถือครองเงินสดจาก 5-6% เหลือ 4% เน้นการลงทุนตราสารหนี้ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสูง เน้นลงทุนแบบระมัดระวังและเป็นกลาง ด้านหุ้นสหรัฐขึ้นไปค่อนข้างสูง ขณะที่หุ้นจีนมีแนวโน้มกลับมา และเชื่อว่าค่าเงินสหรัฐกำลังอ่อนตัวลง เงินเยนกำลังจะแข็งค่ามากขึ้น ส่วนหยวนมีแนวโน้มอ่อนลงจากรัฐบาลจีนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ” จิรวัฒน์ กล่าว
ส่วน ศิริพร สุวรรณการ Managing Director, Financial Advisory Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงภาพรวมในประเทศไทยว่า สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ที่ผ่านมามีแรงเทขายจากการคาดการณ์นโยบายของรัฐบาลใหม่ และเรื่องภาษีที่ยังมีการถกเถียงกัน เชื่อว่าหากลงทุนในหุ้นไทยตอนนี้มีโอกาสได้ประโยชน์ เพราะคาดว่าหุ้นไทยลงมาถึงจุดแล้ว (ต่ำสุดในรอบ 2 ปี) แต่ยังต้องระมัดระวัง ซึ่ง KBank Private Banking เพิ่งหันกลับมาลงทุนหุ้นไทย 2% จากที่ไม่ได้ลงทุนมานานกว่า 10 ปี
สำหรับปัจจัยลบ คือ ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นในปีที่มีการเลือกตั้ง มีประเด็นการจัดตั้งงบประมาณว่าจะทำได้เร็วเพียงใด ส่วนปัจจัยบวกคือ การท่องเที่ยวกลับมา เงินเฟ้อในไทยต่ำ รัฐบาลไทยจึงไม่มีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก
ถ้าสถานการณ์ชัดการเมืองเจนมากขึ้น การลงทุนจะค่อยๆ ดีขึ้น และคาดว่าในระยะยาวจะได้ประโยชน์จากการปรับซัพพลายเชนทั้งโลกจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องหาซัพพลายเชนนอกประเทศจีนมากขึ้น ซึ่งไทยอาจจะได้ประโยชน์