SCB CIO ประเมินความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน เป็นปัจจัยเฝ้าระวัง แม้โอกาสการเกิดสงครามเต็มรูปแบบค่อนข้างตํ่า แต่ความตึงเครียดยืดเยื้อ ผลกระทบช่วงสั้นจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ มีแนวโน้มถูกนำมาใช้น่าจะตกอยู่กับตลาดการเงินรัสเซีย กลุ่มธนาคารยุโรปที่มีการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจในรัสเซีย นับเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้นโลกโดยรวมยังคงจำกัด แนะทยอยลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปได้ต่อ จากผลประกอบการที่ยังโตต่อเนื่อง รวมถึงการปรับนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่น่าจะเกิดขึ้นช้ากว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
–สภาทองคำโลกเผย ดีมานด์ทองคำในไทยฟื้นตัวในปี 2564 อยู่ที่ 37 ตัน
–Google เผยการทำงานเบื้องหลังเพื่อทำให้รีวิวใน Google Maps น่าเชื่อถือและเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้
ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า SCB CIO มองปัญหาความขัดแย้งและผลกระทบจากแนวโน้มการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจระหว่างรัสเซีย-ยูเครนและชาติมหาอำนาจนำโดยสหรัฐฯ และอังกฤษ มีแนวโน้มยืดเยื้อ แม้โอกาสการเกิดสงครามเต็มรูปแบบค่อนข้างตํ่า เนื่องจากการทำสงครามเต็มรูปแบบจะเกิดผลเสียอย่างมหาศาลทั้งกับรัสเซีย สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยมาตรการคว่ำบาตรจากกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ( NATO) ที่มีแนวโน้มถูกนำมาใช้จะส่งผลกระทบทางลบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินรัสเซีย
ในส่วนของสหภาพยุโรป มีแนวโน้มจะประสบปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน เนื่องจากพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในสัดส่วนสูง โดยการส่งออกก๊าซธรรมชาติ (LNG) ของรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 35% ของปริมาณการใช้ก๊าซของยุโรปในปี 2022 และสหรัฐฯ จะเกิดปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวต่อเนื่องจะยิ่งทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ( Fed) ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าเดิม ซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในระยะสั้นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ รายละเอียดการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (economic sanctions) ที่อาจนำมาใช้ต่อรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจและตลาดเงินของรัสเซีย และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานในยุโรป รวมถึงสถาบันการเงินและภาคธุรกิจของยุโรปที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจในรัสเซีย
ผลกระทบหลักตกที่ตลาดการเงินของรัสเซีย ในขณะที่ผลกระทบต่อตลาดหุ้นยุโรปและราคาน้ำมันและราคาทองคำยังจำกัด
ผลกระทบต่อตลาดรัสเซีย: ความตึงเครียดส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงของรัสเซีย โดยเฉพาะตลาดหุ้นรัสเซียที่ปรับลงและค่าเงินรัสเซียที่อ่อนค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ โดย MOEX index ปรับลดลงราว 7%YTD และเคยปรับลงมากสุดถึง 15% จากช่วงต้นปีระหว่างวันที่ 18-19 ม.ค. ซึ่ง valuation ของ MOEX index ปรับลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 4.7 เท่าบน 12-month forward P/E (ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปีอยู่ที่ 4.6 เท่า ในเดือนมี.ค. 2014 ช่วงเกิดความตึงเครียดในคาบสมุทรไครเมีย) และ 5-year CDS spread ของรัสเซียได้เพิ่มขึ้นกว่า 200 bps (สะท้อน sovereign risk ที่เพิ่มขึ้น) แต่ยังเพิ่มขึ้นน้อยกว่าระดับราว 600 bps ในเดือนม.ค. 2015
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความตึงเครียดในรอบนี้ส่งผลต่อตลาดรัสเซีย ไม่ได้รุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับอดีต รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักของรัสเซีย เช่น ราคาแพลเลเดียม ที่ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านราคารุนแรงมาก และเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี
ผลกระทบต่อตลาดยุโรป: ในภาพรวม มองผลกระทบโดยตรงยังมีแนวโน้มจำกัด จากปัจจัยดังต่อไปนี้
1)ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรป (EU natural gas price) ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ต้นปีและพึ่งผ่านจุดสูงสุดของราคาในช่วงปลายปี 2021
2) ราคาหุ้นสินค้าอุปโภคคงทน (consumer durables) และหุ้นสถาบันการเงินของยุโรปส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับลงมากจากเหตุการณ์
3) คาดการณ์การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในช่วง 1 ปีข้างหน้าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ (เพิ่มขึ้นเพียง 10-20 bps) สะท้อนว่าตลาดไม่ได้กังวลมากนักถึงสถานการณ์เงินเฟ้อจากความขัดแย้งปัจจุบัน
4) credit spread ของ EU HY กลับแคบลงเมื่อเทียบกับ US HY สะท้อนว่าความเสี่ยงต่อตลาดหุ้นกู้ยุโรปโดยรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย
ดังนั้น จึงพอสรุปได้เบื้องต้นว่า ความผันผวนด้านราคาของสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดยุโรปส่วนใหญ่มีแนวโน้มมาจากความกังวลด้านการถอนสภาพคล่องของ Fed ในช่วงก่อนหน้ามากกว่าประเด็นรัสเซีย-ยูเครนโดยตรง มองตลาดหุ้นยุโรปในช่วงสั้นยังอยู่ในแนวโน้มพักฐานเพื่อรอความชัดเจนในการเจรจาหาข้อสรุป
ผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์: ค่อนข้างมีผลชัดเจนมากที่สุดในบรรดาสินทรัพย์เสี่ยง โดยราคาทองคำปรับขึ้นได้ในช่วงสั้นก่อนจะปรับลดลงในช่วงปลายเดือน ม.ค. ในขณะที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องราว 15%YTD โดยมาจากหลายปัจจัย เช่น อุปสงค์การใช้น้ำมันช่วงหน้าหนาวที่เร่งตัวในขณะที่อุปทานน้ำมันยังตึงตัว และจากเหตุการณ์กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนที่ได้ยิงขีปนาวุธโจมตีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งไม่ได้มาจากเรื่องความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม SCB CIO มองว่าประเด็นรัสเซีย-ยูเครนมีส่วนสร้าง sentiment เชิงบวกต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้จากการที่รัสเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกในส่วนของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แพลเลเดียมและนิกเกิล ในขณะที่ยูเครนเป็นผู้ผลิตรายสำคัญในส่วนของข้าวโพดและข้าวสาลี มองราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันและสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับสูงในช่วงสั้น
SCB CIO ยังคงแนะนำทยอยลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปได้ต่อ เนื่องจากมองดัชนี Europe STOXX 600 ยังมี 2022 EPS growth ในระดับที่สูงราว 7-8% และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงมีแนวโน้มปรับนโยบายการเงินตึงตัวช้ากว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และคาดความผันผวนในตลาดการเงินโลกจากประเด็นความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะสูงเพียงระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตาม คือ นักลงทุนที่มีการถือครองตราสารหนี้และหุ้นธนาคารในยุโรป เช่น Raiffeisen, OTP Bank, UniCredit, Société Générale และ ING ควรต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากธนาคารเหล่านี้มีการดำเนินธุรกิจผ่านการปล่อยกู้และรับรู้รายได้บางส่วนจากรัสเซีย
แต่คาดว่าจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อหุ้นกลุ่มธนาคารยุโรปไม่รุนแรง เนื่องจาก ECB ประกาศเพิ่มมาตรการรองรับสำหรับธนาคารยุโรปที่อาจได้รับผลกระทบข้างต้นแล้ว โดยมีการเร่งเตรียมเงินสำรองให้เพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงและความผันผวนด้านสภาพคล่องและเครดิตที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า