SCB CIO ชี้ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเหมาะลงทุนระยะยาว คาดฟื้นตัวปีนี้แถมมูลค่าไม่แพง

SCB CIO ชี้ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเหมาะลงทุนระยะยาว คาดฟื้นตัวปีนี้แถมมูลค่าไม่แพง

SCB CIO แนะธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับการลงทุนในระยะยาว ยืนหนึ่งรับกระแสโลกใส่ใจสิ่งแวดล้อม มุ่งหน้าสู่คาร์บอนเป็นศูนย์ ขณะที่ แนวโน้มผลประกอบการของกลุ่มพลังงานหมุนเวียนในปีนี้คาดว่าจะกลับมาเติบโต โดยมูลค่ายังไม่แพง ค่า P/E ดัชนี SP Global Renewable Energy อยู่ที่ 24.2 เท่า ยังมีโอกาสปรับขึ้นได้อีก

Kubix ปิดโครงการ ICO แรก นักลงทุน DESTINY TOKEN รับเงินต้นคืนพร้อมผลตอบแทน

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานดั้งเดิมจากฟอสซิล (Energy Transition) ไปสู่พลังงานที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ และมีความสะอาดกว่า (Renewables ) เป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นสอดคล้องกับโลกที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะมีผลต่อการใช้ชีวิต ในขณะที่ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้โครงสร้างของตลาดพลังงานในปัจจุบันได้รับความสนใจมากขึ้น

SCB CIO มองว่า ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในปี 2023 หลังจากในปีที่ผ่านมาธุรกิจในกลุ่มนี้ได้รับ ผลกระทบจาก 1) ต้นทุนที่ปรับตัวขึ้นตามเงินเฟ้อ 2) มาตรการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของทางภาครัฐนำมาสู่กระแสการเก็บ ภาษี Windfall tax และ 3) แรงกดดันจากการเร่งตัวขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) ตามการขึ้นดอกเบี้ย ของธนาคารกลางเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยกดดัน Sentiment ของกลุ่ม แต่ในปีนี้ เรามองว่าราคา สินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลงมาจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ต้นทุนปรับตัวลดลงตาม

ด้านราคาพลังงานที่ปรับตัวลงมา ช่วยลดแรงกดดันในการออกนโยบายควบคุมราคาพลังงาน ในขณะที่ธนาคารกลางยังคงมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อ เพื่อนำเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมาย แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรจะมีการปรับตัวขึ้นช้ากว่าปีที่ผ่านมา และ มีแนวโน้มผันผวนลดลง SCB CIO มองว่าแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ ผ่านการส่งเสริมนโยบายที่มีความชัดเจนขึ้นจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุน และ มีแนวโน้มหนุนกลุ่มพลังงานหมุนเวียนต่อไปได้ เช่น ยุโรป ที่มีแผน REPowerEU ซึ่งจะต้องเร่งลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เพื่อให้สัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเกิน 69% ของกระแสไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ ในปี 2573 ตามแผน และ สหรัฐฯ ที่ออกกฎหมาย Inflation Reduction Act ลดเงินเฟ้อผ่านการลดการขาดดุลการคลังด้วยภาษีหลายรูปแบบ โดยจะมีการนำเงินภาษีที่ได้ไปจัดสรรลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกระแส Energy Transition ซึ่งคาดว่าจะมีวงเงินสูงถึงประมาณ 3.6-4.0 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 10 ปีนี้

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Bloomberg consensus ที่รวบรวมการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมการเงิน มองว่า จะเห็นกำไรต่อหุ้น (EPS) ของกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ในปี 2566 ฟื้นตัว 89% และเติบโตได้ 37% ในปี 2567 โดยได้ปัจจัยหนุนจากต้นทุน ที่มีแนวโน้มปรับตัวลง ส่งผลให้อัตราการทำกำไรฟื้นตัวขึ้น ในขณะที่ Valuation ในปัจจุบัน Forward 12M P/E ของ SP Global Renewable Energyอยู่ที่ 24.2 เท่า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งอยู่ที่ 24 เท่า อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในช่วง 3 ปี ย้อนหลังที่กระแสเงินลงทุนใน ESG มีการเร่งตัวขึ้น P/E ในปัจจุบันจะอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง เรามองว่ากระแสของภาครัฐที่มีแนวโน้มสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องจะเป็นตัวเร่ง ที่ทำใหหุ้นในกลุ่ม Renewable energy มีการ Rerating ขึ้นได้

เมื่อมองการเติบโตในระยะยาวของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน พบว่า เป้าหมายการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ภายในปี 2593 ของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะ จีน สหรัฐฯ และ กลุ่มเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนในการปล่อยมลภาวะคิดเป็น 50% ของโลก เพื่อให้เป็นไปตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลออกนโยบายดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น ขณะที่ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า แหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์ และลม จะเป็นที่มาหลักของการผลิตไฟฟ้าในอนาคต โดยคาดว่า ความสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2570 จะเติบโตขึ้น 165% จากปี 2564 ส่วนพลังงานลม จะเติบโต 85% ขณะที่อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด เติบโต 73%

SCB CIO มองว่า นอกเหนือจากแรงสนับสนุนของภาครัฐ ยังมีปัจจัยอื่นสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอีก ได้แก่ 1) ต้นทุนการใช้พลังงานสะอาดที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และเริ่มอยู่ในระดับต่ำกว่าการใช้พลังงานฟอสซิล 2) กระแส ESG ที่ทำให้อุตสาหกรรมอื่นต้องหันมาใช้พลังงานที่สะอาดและมีความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานไฟฟ้า ส่งเสริมให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และ 3) การเติบโตของอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ในกระแส Energy transition เช่น ธุรกิจการจัดเก็บพลังงาน ที่ช่วยส่งเสริมให้การใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดมีเสถียรภาพและเป็นที่นิยมมากขึ้น

ดร.กำพล กล่าวต่อไปว่า ในแง่ปัจจัยเสี่ยงของกระแส Energy transition จะมาจากนโยบายของภาครัฐ ว่าจะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้การลงทุนในอุตสาหกรรมมีความคล่องตัวมากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกันความพร้อมด้านเทคโนโลยี และระบบโครงสร้างพื้นฐานยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม และสุดท้ายแม้ว่าธุรกิจจะมีการลงทุนโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับ Energy transition แต่ Value Chain ในระบบนั้น จะต้องเอื้อต่อความยั่งยืนด้วยเช่นกัน

Scroll to Top