ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ มองตลาดโลกปี 66 แนะลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน และหุ้นที่มีคุณภาพดี รวมถึงหุ้นกลุ่มวัฏจักรที่มีโอกาสจะฟื้นตัวในอนาคต

ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ มองตลาดโลกปี 66 แนะลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน และหุ้นที่มีคุณภาพดี รวมถึงหุ้นกลุ่มวัฏจักรที่มีโอกาสจะฟื้นตัวในอนาคต

ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ (SCB Julius Baer) จัดงานสัมมนาเอ็กซ์คลูซีฟ “มุมมองเศรษฐกิจโลกปี 2566” (Market Outlook 2023) สำหรับลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (Ultra High Net Worth Individuals – UHNWIs) นำเสนอถึงปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการลงทุนในปี 2566 ที่จัดทำโดยจูเลียส แบร์ โดยให้มุมมองว่าจะเป็น “The Year of Cool-Down” อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในทิศทางที่ชะลอลงจากนโยบายการเงินที่ตึงตัว และผลกระทบด้าน Supply chain ที่เกิดจากโรคระบาดใหญ่นั้นใกล้หมดลง คาดเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะเติบโตประมาณ 2% และแม้จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกา แต่อาจจะไม่เกิด Global recession แนะนำลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่คุณภาพดี ด้านตลาดหุ้นแนะหุ้นคุณภาพดีที่มีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและมีอำนาจในการตั้งราคา

Jubilee เผยปี 65 กำไรนิวไฮกว่า 311 ล้านบาท เคาะปันผลหุ้นละ 0.73 บาท

ในขณะเดียวกันควรมองหาโอกาสในการลงทุนหุ้นกลุ่มวัฏจักรที่มีโอกาสจะฟื้นตัวตามสภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงปี 2567 เช่น กลุ่มยานยนต์ กลุ่มอุปกรณ์และเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและระบบ Automation กลุ่มการขนส่งในส่วนของการลงทุนที่เป็นเทรนด์ระยะยาว พร้อมแนะธีมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เมืองแห่งอนาคตที่ยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล และธีมการเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์ การดูแลและรักสุขภาพให้ยาวนาน

ลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด กล่าวว่า ปี 2565 ที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เช่น สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะ Stagflation นโยบายการเงินที่ตึงตัว ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาการเมืองในประเทศ นับเป็นปีที่ยากต่อการคาดการณ์มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย จากมุมมองเศรษฐกิจโลกปี 2566 ที่จัดทำขึ้นโดยจูเลียส แบร์ พบว่าจะเป็น “The Year of Cool-Down” โดยคาดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมานั้นจะเริ่มชะลอตัวลง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในทิศทางที่ชะลอลงจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวและผลกระทบด้าน Supply chain ที่เกิดจากโรคระบาดใหญ่นั้นใกล้หมดลง ทำให้นโยบายการเงินจะกลับมาในระดับปกติมากขึ้น คือ ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงและมากแบบในปีที่แล้ว

โดยคาดว่าในปี 2566 เศรษฐกิจโลกจะเติบโตประมาณ 2% ทั้งนี้ยังคงเป็นที่คาดการณ์กันในวงกว้างว่า ในปีนี้จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ (recession) ซึ่งเกิดจากนโยบายการเงินที่ตึงตัว อัตราดอกเบี้ยที่สูงจะทำให้การบริโภคชะลอตัวลง แต่จากบทเรียนในปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในการคาดการณ์เรื่องเศรษฐกิจโดยเฉพาะการคาดการณ์ระยะสั้น ในมุมมองของจูเลียส์ แบร์ คาดว่าอาจจะไม่เกิด Global recession เนื่องจากตัวเลขการจ้างงานของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมยังคงแข็งแกร่งทำให้ยังเกิดการบริโภคภายในประเทศเหล่านี้ และโครงสร้างทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศและภูมิภาคที่แตกต่างกัน ทำให้เป็นไปได้ยากที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่พร้อมเพรียงกัน (Synchronize)

“ด้านการลงทุน เราแนะนำให้นักลงทุนใช้จังหวะนี้ในการเข้าลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่คุณภาพดี ที่มีการปรับตัวลงมาทำให้มีระดับของผลตอบแทนที่น่าสนใจมากกว่าค่าเฉลี่ยในรอบหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นในภาพรวมหลังจากการปรับลดระดับมูลค่า (Valuation) ลงมาอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยที่น่าสนใจ แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องการปรับลดกำไรลง ทำให้ตลาดหุ้นอาจจะเกิดความผันผวนได้ ดังนั้น นักลงทุนควรเน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพดีที่มีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและมีอำนาจในการตั้งราคา ในขณะเดียวกันควรมองหาโอกาสในการลงทุนหุ้นกลุ่มวัฏจักรที่มีโอกาสจะฟื้นตัวตามสภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงปี 2567 เช่น กลุ่มยานยนต์ กลุ่มอุปกรณ์และเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและระบบ Automation และกลุ่มการขนส่งในส่วนของการลงทุนที่เป็นเทรนด์ระยะยาว รวมถึงยังคงมุมมองเชิงบวกในธีมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เมืองแห่งอนาคตที่ยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล เช่น Robotic, Cloud computing และธีมการเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์การดูแลและรักสุขภาพให้ยาวนาน เช่น การพัฒนาด้านจีโนมิกส์ (Genomics) ที่ยังคงมีการค้นคว้าวิจัยเพื่อรักษาโรคเรื้อรังอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ลลิตภัทร กล่าวเสริม

Scroll to Top