ตลาดการเงินทั่วโลกตกอยู่ในภาวะผันผวนอย่างหนัก หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากนานาประเทศแบบไม่ทันตั้งตัว ส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกเทขายหุ้นด้วยความกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจตามมา
เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นใน “วันปลดแอก” (2 เมษายน 2568) เมื่อผู้นำสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ในรอบศตวรรษ โดยกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำ 10% สำหรับสินค้าจากทุกประเทศที่ส่งเข้ามายังสหรัฐฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เมษายน และตามมาด้วยการประกาศเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราที่สูงขึ้นกับ 60 ประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ ในวันที่ 9 เมษายน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์พลิกผันอย่างรวดเร็ว เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศชะลอการเก็บภาษีตอบโต้เป็นเวลา 90 วัน หลังจากมาตรการเริ่มมีผลบังคับใช้เพียง 13 ชั่วโมง ส่งผลให้อัตราภาษีของสหรัฐฯ สำหรับสินค้าจากทุกประเทศคงอยู่ที่ 10% ในช่วงเวลาดังกล่าว ยกเว้นจีน ซึ่งยังคงถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้น (145% สำหรับสินค้านำเข้าทั่วไป และ 120% สำหรับพัสดุขนาดเล็ก) แต่การพักชำระภาษีนี้ไม่ได้ครอบคลุมภาษีเฉพาะกลุ่ม เช่น รถยนต์ เหล็ก และอลูมิเนียม
การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าที่รวดเร็วและไม่แน่นอนนี้ สร้างความตกตะลึงให้กับตลาดทั่วโลก นักลงทุนพากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยง ด้วยความกังวลว่าสงครามการค้าที่อาจยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ แม้ว่าตลาดจะมีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยภายหลังการประกาศชะลอการเก็บภาษี แต่ความเชื่อมั่นโดยรวมยังคงเปราะบาง
ประเทศต่างๆ มีปฏิกิริยาต่อมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่แตกต่างกัน จีนตอบโต้ทันทีด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ สูงถึง 125% พร้อมทั้งออกมาตรการจำกัดทางการค้าเพิ่มเติม ทำให้สินค้าจากสหรัฐฯ ที่นำเข้าไปยังจีนถูกเก็บภาษีรวมแล้วประมาณ 140% การตอบโต้ของจีนนำไปสู่ความกังวลว่าสหรัฐฯ อาจออกมาตรการตอบโต้เพิ่มเติม ซึ่งจะนำไปสู่สงครามการค้าเต็มรูปแบบ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจีนกำลังพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เช่น การส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ การสนับสนุนภาคการส่งออก และการจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดหุ้น
ในขณะเดียวกัน ประเทศอื่นๆ เลือกที่จะใช้วิธีการเจรจา ซึ่งคาดว่าจะเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและความซับซ้อน
กิดอน เจอโรม เคสเซล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์เงินฝากและบริหารการลงทุนบุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย แนะนำให้นักลงทุนใช้กลยุทธ์การจัดพอร์ตการลงทุนที่ระมัดระวัง ป้องกันความเสี่ยง และกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม เพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาดในขณะนี้ โดยมีกลยุทธ์หลักที่ควรพิจารณา ดังนี้:
- ลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัว: กระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ (เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ) หลากหลายภูมิภาค และหลากหลายอุตสาหกรรม
- ให้ความสำคัญกับการลงทุนในสินทรัพย์กลุ่ม Core: ใช้กลยุทธ์ถัวเฉลี่ยต้นทุน (Dollar-Cost Averaging : DCA) เพื่อสร้างการลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์คุณภาพ
- ตราสารหนี้เพื่อความมั่นคง: ตราสารหนี้ระดับลงทุนได้ (Investment Grade) จะช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงและลดความผันผวนจากตลาดหุ้น
- หุ้นปันผล: เลือกบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและจ่ายปันผลสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบจากเงินเฟ้อและสร้างความมั่งคั่งระยะยาว
- สินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง: ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจในการกระจายความเสี่ยงในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน ช่วยป้องกันความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดปรับตัวลงและความเสี่ยงด้านค่าเงิน
นอกจากนี้ ยูโอบียังมองเห็น โอกาสการลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Tactical Opportunities) ในบางตลาด เช่น จีน ที่แม้จะเผชิญกับแรงกดดัน แต่ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นและมูลค่าหุ้นที่น่าสนใจ และ หุ้นกลุ่มการเงินในประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่เพิ่มขึ้นและเงินปันผลที่น่าสนใจ
ท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความผันผวนของตลาดที่อาจดำเนินต่อไป นักลงทุนควรยึดมั่นในเป้าหมายการลงทุนระยะยาว กระจายการลงทุนอย่างรอบคอบ และมีวินัยในการลงทุน เพื่อปกป้องและสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว