ชวนรู้ 20 คำศัพท์กองทุนรวม ที่นักลงทุนมือใหม่ควรรู้

ชวนรู้ 20 คำศัพท์กองทุนรวม ที่นักลงทุนมือใหม่ควรรู้

วันนี้ fintips by ttb จะมาแนะนำ 20 คำศัพท์กองทุนรวม เหล่านี้เพื่อให้นักลงทุนมือใหม่ได้รู้ และเข้าใจก่อนที่จะลงทุน

การลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดก็ตาม ควรทำการศึกษาและเข้าใจในสินทรัพย์นั้น ๆ ให้ดีเสียก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อพอร์ตการลงทุน เริ่มต้นด้วยการศึกษาคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ที่เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ อย่างการลงทุนใน “กองทุนรวม” ว่าแต่ละคำศัพท์ที่นักลงทุนควรรู้นั้นมีอะไรบ้าง

20 คำศัพท์กองทุนรวม

  1. กองทุนรวม (Mutual Fund) คือ การรวบรวมเงินของนักลงทุน นำมาลงทุนตามนโยบายที่กองทุนรวมนั้น ๆ กำหนดไว้ โดยมี “ผู้จัดการกองทุน” ที่เป็นมืออาชีพช่วยบริหารจัดการเงินของกองทุน
  2. ตราสารหนี้ (Bond) คือ ตราสารทางการเงินที่ผู้ถือ หรือนักลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้และผู้ออกตราสารหนี้มีสถานะเป็นลูกหนี้ โดยเจ้าหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของ “ดอกเบี้ย” อย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้และจะได้รับ “เงินต้น” คืน เมื่อครบกำหนดอายุ ตัวอย่าง ตราสารหนี้ที่พบเห็นทั่วไป เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน
  3. ตราสารทุน (Equity Instruments) คือ ตราสารที่กิจการออกขายให้แก่ผู้ลงทุนเพื่อระดมเงินทุนไปใช้ในกิจการ ตราสารทุนแบ่งได้หลายประเภท เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น
  4. กองทุนรวมผสม (Mixed Fund) คือ กองทุนรวมที่ลงทุนทั้งในตราสารทุนและตราสารหนี้ โดยกองทุนรวมประเภทนี้จะให้ผลตอบแทน และความเสี่ยงที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของการลงทุนในตราสารแต่ละประเภทที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน ซึ่งแบ่งได้ 2 แบบ คือ กองทุนรวมแบบผสมที่มีข้อกำหนดในการลงทุนในตราสารทุน (Balanced Fund) และกองทุนรวมแบบผสมยืดหยุ่น (Flexible Fund)
  5. กองทุนลดหย่อนภาษี คือ กองทุนรวมที่สามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งมีด้วยกัน 2 กองทุนรวม ได้แก่ Super Saving Funds (SSF) คือ กองทุนรวมเพื่อการออม ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ได้ทุกประเภท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนดัชนี ฯลฯ และ Retirement Mutual Fund (RMF) คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ได้หลายประเภท
  6. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) คือ บริษัทที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้บริหารเงินลูกค้าในรูปแบบกองทุนรวม (Mutual Fund) กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)
  7. หน่วยลงทุน Net Asset Value (NAV) คือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เป็นมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมดของกองทุนรวม รวมถึงผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่กองทุนรวมได้รับจากการลงทุน หักออกด้วยค่าใช้จ่าย และหนี้สินของกองทุนรวมนั้น โดยปกติแล้วจะทำการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนตามราคาตลาดในแต่ละวัน (Mark to Market) เพื่อสะท้อนถึงมูลค่าที่เป็นจริงตามสภาวะตลาดที่ได้เปลี่ยนแปลงไป
  8. หนังสือชี้ชวนส่วนสรุป (Fund Fact Sheet) คือ หนังสือที่ บลจ. เป็นผู้ออกเพื่อเผยแพร่ข้อมูลของกองทุนให้ผู้ลงทุนทราบ ภายในหนังสือจะบอกรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับกองทุนรวมนั้น ๆ เช่น ประเภทของกองทุน ความเสี่ยง นโยบายการลงทุน สัดส่วนของสินทรัพย์ที่กองทุนรวมลงทุน ผลตอบแทนย้อนหลัง และข้อมูลสำคัญอื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งนักลงทุนควรอ่านและศึกษาข้อมูลในส่วนนี้ทุกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุน
  9. Capital Gain คือ ผลกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ กำไรที่ได้จาก Capital Gain ถูกเรียกเก็บภาษีในบางประเทศ (Capital Gains Tax) ส่วนในประเทศไทยนั้น เงินได้จากการขายหรือโอนหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่มีการเรียกเก็บภาษี ส่วนในกรณีที่เป็นการขายหรือโอนหลักทรัพย์นอกตลาด ผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาที่อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีภาษีจะต้องเสียภาษีโดยถูกหัก ณ ที่จ่ายตามอัตราภาษีก้าวหน้า และต้องนำเงินได้ไปรวมคำนวณตอนสิ้นปีด้วย ส่วน Capital Gain จากการลงทุนในกองทุนรวม ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี
  10. เงินปันผล (Dividend) คือ การปันผลกำไรของบริษัทคืนแก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งจะจ่ายเป็นเงินสด สินทรัพย์ หรือหุ้นก็ได้ ซึ่งรายได้ส่วนดังกล่าวที่นักลงทุนได้รับจะต้องเสียภาษีโดยถูกหักภาษี ณ ที่ จ่าย 10% แต่สามารถขอคืนภาษีย้อนหลังได้โดยใช้สิทธิเครดิตภาษีเงินปันผล
  11. Dollar Cost Average (DCA) คือ วิธีการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน ที่ลงทุนด้วยเงินลงทุนเท่า ๆ กันทุกงวด โดยไม่คำนึงถึงราคาของสินทรัพย์ลงทุน ณ ขณะนั้น โดยจะนิยมใช้กับการลงทุนในกองทุนรวมหรือหุ้น เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ยังจับจังหวะลงทุนไม่ได้ หรือไม่มีเวลาติดตามข่าวสาร
  12. Lump Sum คือ วิธีการลงทุนแบบครั้งเดียวด้วยเงินก้อนในจังหวะเวลาที่ประเมินแล้วว่าเหมาะสม (Market Timing) และมีความมั่นใจว่าในอนาคตราคาสินทรัพย์ที่ลงทุนจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหมาะสำหรับนักลงทุนที่สามารถวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน และภาวะเศรษฐกิจได้ดี มีความรู้เรื่องการวิเคราะห์ทางเทคนิค มีเงินก้อน และรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการลงทุนได้ เพราะถ้าหากจับจังหวะลงทุนผิดก็อาจสร้างผลขาดทุนเป็นจำนวนมาก
  13. ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) คือ ภาวะที่ราคาสินค้าหรือบริการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล เสื้อผ้า ราคาที่ดิน ฯลฯ ซึ่งหากเรามีเงินเท่าเดิมจะซื้อสินค้าหรือบริการเหล่านั้นได้น้อยลงกว่าเดิม โดยสาเหตุการเกิดเงินเฟ้อแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ ความต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (Demand-Pull Inflation) และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น (Cost-Push Inflation)
  14. ภาวะเงินฝืด (Deflation) คือ ภาวะที่ราคาสินค้า และบริการลดต่ำลงเรื่อย ๆ เนื่องจากปริมาณสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ผลิตออกมามีมากกว่าความต้องการซื้อสินค้าของคนในประเทศ หรือพูดง่าย ๆ คือ ตรงข้ามกับภาวะเงินเฟ้อโดยสาเหตุของเงินฝืดเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งเกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ซื้อลดลง ไม่กล้าใช้จ่ายเงิน เนื่องจากปัจจัยที่เข้ามากระทบ เช่น ภัยธรรมชาติ หรือเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง รวมไปถึงปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจไม่เพียงพอ เช่น เงินตราไหลออกนอกประเทศมากเกินไป เป็นต้น
  15. Stagflation คือ การรวมคำ 2 คำเข้าด้วยกัน ได้แก่ Stagnation คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือชะงัก และ Inflation คือ ระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นหรือเงินเฟ้อ Stagflation จึงหมายถึง ภาวะที่อัตราเงินเฟ้อและการว่างงานเพิ่มขึ้น แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจกลับโตไม่ทันกัน
  16. Gross Domestic Product (GDP) คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ คำนวณมาจากมูลค่าสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศ ณ ช่วงเวลานั้น หรือพูดง่าย ๆ ว่า GDP เป็นมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่ Consumption คือ การบริโภคของภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป Investment คือ การลงทุนของภาคเอกชน Government Spending คือ การใช้จ่าย และการลงทุนของภาครัฐ และ Net Export คือ มูลค่าการส่งออกสุทธิ
  17. Federal Reserve (FED) คือ หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ดูแลนโยบายการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง FED นั้นมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต อัตราคิดลด (Discount Rates) และการลงทุนของนักลงทุน ซึ่งไม่มีใครจะสามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าทิศทางในอนาคตและนโยบายของ FED จะเป็นอย่างไร ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์ การคาดเดาจากการสื่อสารของ FED
  18. Federal Open Market Committee (FOMC) คือ คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีหน้าที่ในการกำหนด และรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยตรง ซึ่งให้ความสำคัญกับการดำเนินการผ่านตลาดการเงิน โดยใช้เครื่องมือในการบริหารจัดการเป้าหมายของอัตราการว่างงาน และเป้าหมายเงินเฟ้อ
  19. การจัดพอร์ตการลงทุน (Investment Portfolios) คือ การกระจายลงทุนในหลากหลายหลักทรัพย์ เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าหลักทรัพย์ โดยขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนว่าเรารับความเสี่ยงได้แค่ไหน คาดหวังผลตอบแทนเท่าไหร่ และมีวัตถุประสงค์ในการลงทุนอย่างไร
  20. Stop Loss คือ จุดตัดการลงทุน หรือจุดตัดการขาดทุน คือ การตั้งจุดตัดเพื่อไม่ให้ราคาหลักทรัพย์ในพอร์ตลดลงไปมากกว่านี้ ซึ่งขณะที่ทำการ Stop Loss นั้น นักลงทุนอาจขาดทุน หรือได้กำไรอยู่ในขณะที่ขายก็ได้ แต่ขายออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้กำไรลดลงกว่าที่เป็น หรือขาดทุนมากยิ่งขึ้น

การลงทุนไม่เป็นเรื่องที่ยากเกินอีกต่อไป หากทำความเข้าใจกับ 20 คำศัพท์กองทุนรวม ควรรู้นี้ เพื่อให้เข้าใจหลักการ พร้อมตั้งเป้าหมายการลงทุน เท่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุน สามารถวางแผนลงทุนได้อย่างสบายใจ เพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีแบบยั่งยืน ทั้งนี้การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง

BTS กรุ๊ปฯ จับมือ กลุ่มธนาคาร เสวนา “หุ้นกู้ส่งเสริม ความยั่งยืน”

เพิ่มเติมข้อมูลความรู้ และเคล็ดลับทางการเงินดี ๆ เพื่อสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ทั้งวันนี้และอนาคต ได้ที่ “fintips by ttb” เรื่องเงินที่รู้จริงแบบเพื่อนที่รู้ใจคลิก https://www.ttbbank.com/th/fin-tips-hm12 หรืออ่านบทความเต็มได้ที่ https://www.ttbbank.com/th/fin-tips-investvocabs

*ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ซื้อกองทุน SSF/RMF ในปี 2565 หากซื้อกองทุนแล้ว อย่าลืม!!! แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้ บลจ. ที่ซื้อหน่วยลงทุนทราบ หากไม่แจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลดหย่อน ผู้ลงทุนจะเสียสิทธิในการลดหย่อนภาษี สามารถแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลดหย่อนผ่านธนาคารที่ซื้อหน่วยลงทุน โดยลงทะเบียนภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565 สำหรับลูกค้า ทีทีบี ดูรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก ttbbank.com

Scroll to Top