กรมโรงงานอุตสาหกรรม เตรียมพร้อมให้บริการผู้ประกอบการ ตามพ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ พร้อมเร่งเดินหน้ากฎหมายลูก 18 ฉบับ ชี้ช่วยอำนวยความสะดวก-โปร่งใส และช่วยสร้างความมั่นใจนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ กรอ. มีความพร้อมที่จะให้บริการผู้ประกอบการตาม พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. 62 ที่ผ่านมา โดยจะส่งผลดีชัดเจนคือ 2 เพิ่ม 2 ลด และ 5 ประโยชน์ ที่ผู้ประกอบการได้รับทันที ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้กำหนดทิศทางการทำงานด้านการปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่ Smart Government หรือนโยบายการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการนำระบบ i-Industry มาเชื่อมโยงระบบการทำงานของหน่วยงานในกระทรวงทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มาติดต่อรับบริการ ในรูปแบบ One Stop Service เช่น ระบบการขอใบอนุญาต ร.ง.4 ออนไลน์ และระบบการชำระค่าธรรมเนียมรายปี เป็นต้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมถึงเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนและดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
สำหรับ พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ที่จะช่วย 2 เพิ่ม 2 ลด และ 5 ประโยชน์ โดย 2 เพิ่มประกอบด้วยการเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ ส่วน 2 ลด ประกอบด้วย จะช่วยลดระยะเวลาการทำเรื่องขอใบอนุญาตแบบเดิม และช่วยลดปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องความโปร่งใสในกระบวนการต่อใบอนุญาตเนื่องจากจะไม่มีการต่อใบอนุญาตอีกต่อไป ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงก็คือผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศสามารถลงทุนพัฒนาธุรกิจได้สะดวกและง่ายขึ้น
ส่วน 5 ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการได้รับโดยตรงประกอบด้วย 1.การประกอบการ การยกเลิก การต่ออายุใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการ สามารถขยายศักยภาพในการแข่งขันได้ 2.สนับสนุนให้โรงงานที่มีอยู่เดิมที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเพิ่ม ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใส่ใจและดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 3.ช่วยอำนวยความสะดวกในการประกอบการในภาคอุตสาหกรรมตามนโยบาย “อุตสาหกรรม 4.0” ของรัฐบาล เพื่อทำให้มีการควบคุม กำกับ ดูแล เท่าที่จำเป็น เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการโรงงาน และสร้างความโปร่งใสให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย 4.การเปลี่ยนคำนิยาม “โรงงาน”จากกิจการที่มีเครื่องจักร 5 แรงม้า หรือ แรงงาน 7 คนขึ้นไปให้สูงขึ้นเป็นกิจการที่มี เครื่องจักร 50 แรงม้า หรือ แรงงาน 50 คนขึ้นไป ทำให้โรงงานขนาดเล็กเกือบ 60,000 โรงงานได้รับความสะดวกในการประกอบกิจการ โดยไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายที่ซ้ำซ้อนกันหลายฉบับ และ 5.เพิ่มความคล่องตัวในการตรวจสอบให้ผู้ประกอบการเป็นฝ่ายรับรองตนเอง และใช้ระบบผู้ตรวจสอบเอกชน (Third Party) เข้าไปตรวจสอบอีกครั้ง ทำให้โรงงานได้รับการตรวจสอบอย่างทั่วถึง
“พ.ร.บ.โรงงาน ฉบับนี้ เป็นการลดภาระผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม เป็นผลดีต่อการประกอบกิจการใน ภาพรวม มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่กำหนดให้รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตเท่าที่จำเป็น ซึ่งนอกจากจะสร้างความรวดเร็วในการพิจารณาอนุญาตจากเจ้าหน้าที่แล้วยังช่วยสร้างความมั่นใจในด้านความโปร่งใส และช่วยส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย” นายประกอบ กล่าว
นายประกอบ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กรอ. อยู่ระหว่างการเร่งรัดการออกกฎหมายลูก 18 ฉบับ เพื่อรองรับ พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ เช่น ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตและการอนุญาตเกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 3 ฉบับที่..(พ.ศ. …. ยกเลิกแก้ไขและเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การขออนุญาตเกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 3 ที่กำหนดตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตและการอนุญาต เกี่ยวกับโรงงานจำพวกที่ 3 พ.ศ. 2549), ร่างกฎกระทรวงฉบับที่..(พศ….. ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมประกอบกิจการโรงงาน), ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการแจ้งในกรณีได้รับยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตขยายโรงงานตามมาตรา18/1, ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแจ้งการเพิ่มจำนวนเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเครื่องจักรที่ใช้เป็นเครื่องต้นกำลัง เครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดมลพิษหรือมาตรการป้องกันหรือลดเหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือพลังงานของเครื่องจักรเป็นอย่างอื่น หรือการเพิ่มเนื้อที่อาคารโรงงาน หรือการก่อสร้างอาคารโรงงานเพิ่มขึ้นตามมาตรา 19 เป็นต้น
“ตอนนี้หลายฉบับมีความคืบหน้าในการดำเนินการไปมากแล้ว โดยบางส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา ขณะที่หลายฉบับผ่านที่ประชุม ครม.ไปแล้ว และอยู่ระหว่างการรอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนั้นจึงมั่นใจว่าในเร็วๆ นี้กฎหมายลูกทั้ง 18 ฉบับจะเข้ามาช่วยการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่มีประสิทธิภาพโดยสมบูรณ์”