กสทช. ย้ำให้โอเปอเรเตอร์รวมถึงผู้ประกอบการ ให้ดูแลโครงข่าย รับมือพายุโซนร้อน ปาบึก 3-5 ม.ค. นี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศแจ้งเตือนฉบับที่ 5 ยืนยันแล้วว่า “พายุดีเปรสชั่น” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็น “พายุโซนร้อนปาบึก” เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา โดยพายุลูกนี้กำลังเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวน ก่อนจะเข้าสู่ทะเลอ่าวไทยประมาณวันที่ 2-3 มกราคม 2562 และจะขึ้นฝั่งในจังหวัดภาคใต้ของไทย ประมาณวันที่ 3-4 มกราคมนี้ จะทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนัก มีน้ำสะสมเพิ่มขึ้นตามจังหวัดต่างๆจนอาจเกิดน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ และทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร โดยจังหวัดทางภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและอันดามันที่อาจจะได้รับผลกระทบจาก “พายุโซนร้อนปาบึก” คือ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เพชรบุรี พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง สตูล ระนอง พังงา ภูเก็ต โดยฝั่งอ่าวไทย จะได้รับผลกระทบก่อนนั้น

วันนี้ (2 ม.ค. 2562) สำนักงาน กสทช. ได้ย้ำให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้ประกอบกิจการวิทยุ และผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ทุกรายดูแลโครงข่าย และเตรียมความพร้อมของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรศัพท์ประจำที่ และระบบโทรคมนาคม ให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้เมื่อเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน พร้อมทั้งติดตามข่าวสารและพร้อมให้ความร่วมมือในการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาสัมพันธ์ และรับแจ้งเหตุเตือนภัยและรายงานสถานการณ์ และได้สั่งการให้สำนักงาน กสทช. ภาค 4 และสำนักงาน กสทช. เขตทุกเขต ที่รับผิดชอบพื้นที่เขตภาคใต้ในจังหวัดตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงให้ติดตามสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึก และประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา และเตรียมการรับมือตามแผนประสานงานกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินของสำนักงาน กสทช. โดยขณะนี้สำนักงาน กสทช. ในจังหวัดพื้นที่ เตรียมรับมือพร้อมให้ความร่วมมือและประสานงานกับทางจังหวัด และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดดังกล่าว ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ประกอบกิจการวิทยุ และผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ ในพื้นที่แล้ว

นายฐากร กล่าวว่า ศูนย์สายลม สำนักงาน กสทช. ได้ประสานงานไปยังสมาคมวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่ให้เตรียมความพร้อมด้านการสื่อสารกรณีเกิดภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉิน ให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้กรณีที่การสื่อสารหลักทางโทรศัพท์ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้งานได้ รวมถึงให้ติดตามสถานการณ์ ประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ในส่วนของศูนย์คอลเซ็นเตอร์สำนักงาน กสทช. 1200 พร้อมรับแจ้งสถานการณ์ต่างๆ จากประชาชนในพื้นที่ โดยประชาชนสามารถติดต่อแจ้งเหตุการณ์ได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

“สำนักงาน กสทช. พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานเพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้เมื่อเกิดภัยพิบัติ” นายฐากร กล่าว

Scroll to Top