กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จัดพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ การประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย “ไทยสตาร์ แพคเกจจิ้ง อวอร์ด 2019” ภายใต้หัวข้อ “บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน”จำนวนทั้งสิ้น 75 ผลงาน พร้อมมอบรางวัล “เอเชียสตาร์ อวอร์ด 2018” จำนวน 29 รางวัล หลังประเทศไทยส่งผลงานเข้าร่วมประกวดที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ยังมอบรางวัลเวิล์ดสตาร์ อวอร์ด 2019 แก่ผลงานชาวไทยอีกจำนวน 3 รางวัล ที่ไปสร้างชื่อเสียงให้วงการบรรจุภัณฑ์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในสายตาของชาวโลก
นายจารุพันธุ์ จารโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้จัดการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทย หรือ Thai Star Packaging Awards มาตั้งแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบัน โดยปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 42 มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมและสนับสนุนนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ได้แสดงความรู้ความสามารถ มีศักยภาพมากขึ้น และเพื่อให้ได้ต้นแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น พร้อมเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปประกวดในระดับนานาชาติ ทั้งในระดับภูมิภาคเอเชีย (Asia star) และระดับโลก (World star) ถือเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนผู้ประกอบการ ให้มีเวทีแสดงความรู้ความสามารถและมีศักยภาพเพิ่มขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานประกอบการ สมาคมและสมาพันธ์ต่างๆ
สำหรับการประกวดบรรจุภัณฑ์ไทยประจำปี 2562 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ บรรจุภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน (Sustainable Packaging) โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทุกประเภทรวม 463 ผลงาน มีผลงานที่ได้รับรางวัลจำนวน 68 รางวัล ใน 8 ประเภทการประกวด และรางวัลพิเศษ 7 รางวัล รวมทั้งสิ้น 75 รางวัล โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภท ได้แก่
1. ประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่าย สำหรับสินค้าทั่วไป (Student-Consumer Packaging : SC ) ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ นางสาวศิริลักษณ์ สร้อยทองร้อย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร
2. ประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งสำหรับสินค้าทั่วไป (Student-Transportation Packaging : ST) ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ นางสาวชนิกานต์ สมยานะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาทพร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร
3. ประเภทบรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่าย สำหรับสินค้าทั่วไป (Consumer Packaging : CP) มีผู้ประกอบการที่ได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตร จำนวน 13 รางวัล
4. ประเภทบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง (Transportation Packaging : TP) มีผู้ประกอบการ ที่ได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตรจำนวน 8 รางวัล
5. ประเภทบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco Packaging : EP) มีผู้ประกอบการที่ได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตร จำนวน 10 รางวัล
6. ประเภทสื่อและบรรจุภัณฑ์เพื่อการส่งเสริมการขาย (Point of Purchase : POP) มีผู้ประกอบการที่ได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตรจำนวน 8 รางวัล
7. ประเภทวัสดุบรรจุภัณฑ์และองค์ประกอบ (Packaging Meterial and Components : PMC) มีผู้ประกอบการที่ได้รับโล่รางวัลพร้อมเกียรติบัตรจำนวน 2 รางวัล
8. ประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ ยังไม่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด (New Designer Category : ND) ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ นางสาวธัญญาเรศ เปรมสง่า ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท
พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตรนอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษอีก ได้แก่ รางวัลพิเศษ ที่ได้รับการสนับสนุน จากสถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คือ
1. รางวัลการออกแบบบาร์โค้ดบนต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่ายสำหรับสินค้าทั่วไป (SC) ผลงานที่ได้รับรางวัลเป็นของนายธกร กำเหนิดผล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
2. รางวัลการออกแบบบาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่าย สำหรับสินค้าทั่วไป ผลงานที่ได้รับรางวัล เป็นของบริษัท หนึ่งบรรจง จำกัด และบริษัท ซันไชน์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
3. รางวัลพิเศษการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แบ่งเป็น รางวัลประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ นางสาวนวลวรรณ คงแสงไชย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รางวัลวัลประเภทบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ได้แก่ นายวสันต์ แซ่ตั้ง บริษัท อินโดรามา โพลีเมอร์ส จำกัด (มหาชน) รางวัลประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ยังไม่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด ได้แก่ นางสาวธัญญาเรศ เปรมสง่า
อีกทั้งยังมีรางวัลพิเศษที่สนับสนุนโดยสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย เป็นรางวัลประเภทต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่ายสำหรับสินค้าทั่วไป ผู้ที่ได้รับรางวัลได้แก่ นางสาวพรพฤกษา จงศิริชัยกุล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งหมด จะมีสิทธิ์ส่งเข้าประกวดในระดับภูมิภาคเอเชีย (AsiaStar Awards) 2019 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประกวดรางวัลนานาชาตินี้ ในเดือนกันยายน 2562
ขณะเดียวกัน ในปี 2561 กสอ. ได้ส่งผลงานที่ชนะการประกวดในปีดังกล่าว เข้าประกวดระดับเอเชีย AsiaStar Awards 2018 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 31 ผลงาน ซึ่งประเทศไทยได้รับรางวัลมากถึง 29 รางวัล และได้รับรางวัลจากการประกวดบรรจุภัณฑ์ระดับโลก Worldstar Award 2019 จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ ผลงานกล่องขนมไหว้พระจันทร์ ของบริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) ผลงานบรรจุภัณฑ์หมูแปรรูป New Premium 2018 ของบริษัท กลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด และผลงานชั้นแสดงสินค้าเครื่องดื่มเบียร์สิงห์เพื่อการส่งออก ของบริษัท กลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด
“กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า ให้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ซึ่งการออกแบบบรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อ ให้มีความโดดเด่น ดึงดูดใจผู้บริโภค จะช่วยให้การตัดสินใจซื้อสินค้าเร็วขึ้น ขณะเดียวกัน การส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าให้ดีขึ้น ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความแตกต่าง สร้างการจดจำ และสื่อสารเอกลักษณ์สู่ผู้บริโภคได้เช่นกัน และในปัจจุบันสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามหลักการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดของเสียน้อยที่สุด และส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน (Sustainable) ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม” นายจารุพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย