ก.อุตฯจับมือโรงงานน้ำตาล ร่วมแก้อ้อยไฟไหม้ พร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือ 50 บาทต่อตันอ้อย ภายในเดือนเม.ย.นี้

กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ โรงงานน้ำตาล เร่งแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ พร้อมกำหนดมาตรการเข้มทั้งด้านกฎหมาย และมาตรการช่วยเหลืออย่างตรงจุด พร้อมระบุสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต 50 บาทต่อตันอ้อย โดยจะเริ่มจ่ายเงินรอบแรกภายในเดือนเมษายนนี้

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือร่วมกับโรงงานน้ำตาล (เมื่อวันที่ 4 เม.ย.62) เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปเรื่องมาตรการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ร่วมกัน โดยมาตรการทางกฎหมาย แบ่งเป็นระยะ 3 ปี คือ 1.ฤดูการผลิตปี 2562/2563 ชาวไร่อ้อยจะถูกหักราคาอ้อยไฟไหม้ 5% ต่อตัน ส่วนโรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 30% ต่อวัน 2.ฤดูการผลิตปี 2563/2564 ชาวไร่อ้อยจะถูกหักราคาอ้อยไฟไหม้ 10% ต่อตัน ส่วนโรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 20% ต่อวัน และ 3.ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ชาวไร่อ้อยจะถูกหักราคาอ้อยไฟไหม้ 15% ต่อตัน ส่วนโรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกิน 0-5% ต่อวัน

ส่วนมาตรการสนับสนุนจากทางภาครัฐ โดยจะมีการดำเนินการ ดังนี้ 1.จัดหารถตัดอ้อยใหม่และแหล่งเงินทุน เป้าหมายจัดหารถตัดอ้อยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 4,000 คันในปี 2565 โดยปัจจุบันมีรถตัดอ้อย 1,802 คัน จากผู้ผลิตรถตัดอ้อยไทยและนำเข้าจากต่างประเทศ 2.จัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับชาวไร่อ้อย โครงการส่งเสริมสินเชื่อปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี 3.จัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับโรงงาน โครงการส่งเสริมสินเชื่อ ปีละ 1,000 ล้านบาทจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนผู้ประกอบการรถตัดอ้อยไทยด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตและจำหน่ายให้เพียงพอกับความต้องการ โดยสนับสนุนแหล่งเงินทุนจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ SME Bank รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการรับจ้างตัดอ้อยด้วยการจัดหาแหล่งเงินทุกจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ SME Bank อีกทั้งสนับสนุนการประกอบกิจการรับจ้างตัดอ้อย และส่งเสริมการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยการใช้รถตัดอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรอื่น ๆ ในการค้ำประกันเงินกู้

“ขณะเดียวกันกระทรวงฯ ยังได้มีมาตรการด้านการบริหารจัดการ ดังนี้ 1.การบริหารจัดการการผลิตแบบบูรณาการ ด้วยการจัดคิวรับอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้ / การจัดการพื้นที่/เครื่องมือเก็บเกี่ยวและขนส่ง และการวางแผนการผลิตและเก็บเกี่ยว 2.การจัดการพื้นที่ปลอดอ้อยไฟไหม้ โดยมีจังหวัดและโรงงานต้นแบบปลอดการเผาอ้อย ในแต่ละภาค เช่น ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี (โรงงานน้ำตาลไทยกาญจนบุรี) และจังหวัดราชบุรี (โรงงานน้ำตาลราชบุรี) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ (โรงงานมิตรภูเขียว) และจังหวัดเลย (โรงงานมิตรภูหลวง) และภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ (โรงงานไทยเอกลักษณ์) 3.การจัดการพื้นที่ลดปริมาณพื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยไฟไหม้ โดยกำหนดระยะรัศมีรอบชุมชน 5 กิโลเมตร และรัศมีรอบโรงงาน 10 กิโลเมตร ไม่เก็บเกี่ยวอ้อยไฟไหม้ โดยจะดำเนินการในทุกพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อยหรือโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ และเพิ่มพื้นที่ปลอดอ้อยไฟไหม้

สำหรับความก้าวหน้าเกี่ยวกับโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต (50 บาทต่อตันอ้อย) ขณะนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานประมาณเรียบร้อยแล้ว โดยจะเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือรอบแรกภายในเดือนเมษายน 2562 จำนวน 3,200 ล้านบาท ให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย จำนวน 150,000 ราย” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย

Scroll to Top