นายกฯ กดปุ่มเที่ยวปฐมฤกษ์ เปิดทดลองใช้รถไฟชานเมืองสายสีแดง

สิ้นสุดการรอคอยนับ 10 ปี วันนี้นายกรัฐมนตรี กดปุ่มเปิดทดลองเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง ให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี จนถึงปลาย พ.ย. 64 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ก่อนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ พร้อมคุมจำนวนผู้ใช้บริการไม่เกิน 50% ของขบวนตามมาตรการป้องกันโควิด-19

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ในพิธีเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (Soft Opening) ผ่านระบบออนไลน์ จากทำเนียบรัฐบาล ส่งสัญญาณตรงมายังสถานีกลางบางซื่อ โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับหน้าที่ส่งประชาชนเที่ยวปฐมฤกษ์ ณ สถานีกลางบางซื่อ พร้อมกับตรวจเยี่ยมจุดเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ที่เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันนี้ด้วยเช่นกัน โดยจุดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงได้มีการกั้นโซนแยกกับจุดให้บริการฉีดวัคซีนอย่างชัดเจน ทั้งนี้ในช่วงการทดลองเปิดให้ใช้บริการจะเดินรถทุก 30 นาทีระหว่างเวลา 06.00 น. ถึง 20.00 น. และทุก ๆ 15 นาที ในช่วงเวลาเร่งด่วน รวมเส้นทางละ 78 เที่ยวต่อวัน รองรับผู้โดยสารในช่วงบางซื่อ-รังสิตได้ 1,710 คนต่อเที่ยว ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ได้ 1,120 คนต่อเที่ยว ใช้เวลาเดินทางจากสถานีกลางบางซื่อถึงสถานีรังสิต ประมาณ 25 นาที และจากสถานีกลางบางซื่อถึงสถานีตลิ่งชัน 15 นาที เท่านั้นโดยการรถไฟฯ จะจำกัดจำนวนผู้โดยสารทุกประเภท ในขบวนรถและสถานีไม่เกินร้อยละ 50 เพื่อเป็นไปตามมาตรการรักษาระยะห่าง และป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19

ขณะที่เช้าวันนี้เริ่มมีประชาชน มาทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงกันบ้างแล้ว พร้อมระบุดีใจที่ได้มีโอกาสใช้บริการหลังจากที่รอคอยรถไฟสายนี้มานานนับ 10 ปีซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังอยากให้ กระทรวงคมนาคมเร่งรัดจัดการระบบเชื่อมต่อการเดินทางจากบ้านสู่สถานีรถไฟให้มีความสะดวกและรวดเร็วเพื่อส่งเสริมการใช้บริการของประชาชน

ทั้งนี้ในพิธีเปิดทดลองใช้บริการ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เร่งพัฒนาระบบคมนาคมทางรางอย่างต่อเนื่อง และให้ความสนใจ เร่งรัด และติดตามความก้าวหน้าของทุกโครงการมาโดยตลอด สำหรับสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางการเดินทางด้วยรถไฟยุคใหม่ ซึ่งมีศักยภาพเทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงนอกจากจะเป็นทางเลือกให้ประชาชนสามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ปริมณฑล และทั่วทุกภูมิภาคของประเทศได้โดยสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยแล้ว ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจตลอดแนวเส้นทาง

ด้าน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เบื้องต้นการรถไฟฯ จะเปิดให้ประชาชนใช้บริการโดยไม่เก็บค่าโดยสารไปจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 และจะพิจารณาสถานการณ์แพร่ระบาด โควิด-19 อีกครั้ง จากนั้นจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ ในอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 12 บาท สูงสุด 42 บาท

สำหรับสถานีกลางบางซื่อ (Grand Station) มีพื้นที่ใช้สอยรวม 298,200 ตารางเมตร โดยภายในสถานี ประกอบด้วย อาคารทั้งหมด 3 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร ร้านค้า ศูนย์อาหาร สำนักงาน พื้นที่พักคอย และจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีพื้นที่ใช้สอยรวม 87,200 ตารางเมตร ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลา ประกอบด้วย รถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา มีพื้นที่ใช้สอยรวม 58,900 ตารางเมตร และชั้นที่ 3 มีพื้นที่ใช้สอยรวม 58,900 ตารางเมตร เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน และรถไฟความเร็วสูง เชื่อมต่อการเดินทางทางอากาศและทางราง นอกจากนี้ ยังมีชั้นลอย เป็นพื้นที่ร้านค้าและห้องควบคุม พื้นที่ใช้สอยกว่า 20,700 ตารางเมตร และชั้นใต้ดินพื้นที่ใช้สอยกว่า 72,500 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่จอดรถ ที่สามารถจอดรถยนต์ได้ถึง 1,681 คัน ที่จอดรถคนพิการ 19 คัน รวม 1,700 คัน

สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่เปิดให้บริการ ประกอบด้วย รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต จำนวน 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 3 สถานี ส่วนขบวนรถไฟเป็นรถไฟฟ้าแบบ Electric Multiple Unit หรือ EMU ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยลดปัญหามลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ สถานีกลางบางซื่อยังเป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายรถไฟทางไกลของการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงเชื่อมต่อกับระบบรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา และระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2568 ขณะเดียวกันการรถไฟฯ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาส่วนต่อขยายไปยังสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) สถานีศาลายา (มหาวิทยาลัยมหิดล) สถานีธนบุรี-ศิริราช สถานีหัวหมาก และสถานีหัวลำโพง และยังมีแผนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทั้งในอาคารสถานีและพื้นที่รอบสถานีเพื่อให้มีการพัฒนาสถานี และพัฒนาเมืองในรูปแบบ Smart City ควบคู่ไปด้วย

Related Posts

Scroll to Top