นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด กสทช.วันนี้ได้มีวาระพิจารณารายงานการขอรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้
1) ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทั้งสองบริษัทจำนวน 4 คณะ
2) ผลสรุปการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด 3 กลุ่ม
3) รายงานการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์กรณีการรวมธุรกิจฯ โดยสำนักงาน กสทช.
4) ร่างผลการศึกษาของที่ปรึกษาวิเคราะห์การรวมธุรกิจฯ โดยศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5) รายงานของที่ปรึกษาอิสระในการจัดทำความเห็นประกอบรายงานการรวมธุรกิจฯ โดยบริษัท หลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด
หลังจากได้รับฟังข้อมูลดังกล่าวจากสำนักงาน กสทช. ทางบอร์ด กสทช.ทั้ง 5 คน มีความเห็นร่วมกันว่า ข้อมูลที่นำเสนอมายังไม่ครบถ้วนและรอบด้านเพียงพอ ยังขาดข้อมูลสำคัญในหลายประเด็นเพื่อประกอบการพิจารณาผลกระทบในด้านต่างๆ และเพื่อนำไปสู่มาตรการในการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเป็นการป้องกันผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตลาดและอุตสาหกรรม ตลอดจนประชาชนผู้ใช้บริการ จึงมีมติให้ทางสำนักงาน กสทช. ไปทำการวิเคราะห์ที่มีหลักฐานทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์รองรับเพิ่มเติมในประเด็นต่อไปนี้
• วิเคราะห์โครงสร้างการรวมธุรกิจของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ๊คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด โดยให้รวมถึงผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ๊คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด และ New Co (ชื่อบริษัทใหม่หากมีการควบรวมแล้ว) มีอำนาจควบคุม
• วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจ การแข่งขันในตลาดของผู้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่บริษัท New Co เข้าเป็นผู้มีอำนาจควบคุม
• วิเคราะห์ผลดีอันเกิดจากการประหยัดเนื่องจากขนาด (economies of scale) อย่างเป็นรูปธรรมและแนวทางในการส่งต่อผลดีดังกล่าวไปยังผู้บริโภคอย่างประเมินได้ชัดเจน
• วิเคราะห์การถือครองคลื่นของบริษัท New Co ว่าก่อให้เกิดการได้เปรียบและมีผลต่อการแข่งขันในตลาดหรือไม่ อย่างไร
• วิเคราะห์แนวทางในการลดอัตราค่าบริการ การรักษาคุณภาพการบริการเพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
• วิเคราะห์มาตรการการส่งเสริม MVNO (บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน) และเสนอแนวทางในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ เพื่อให้ MVNO สามารถเกิด คงอยู่ และแข่งขันได้ในตลาดเพื่อเพิ่มระดับการแข่งขันให้สูงขึ้น รวมทั้งทางเลือกให้ผู้บริโภค
ทั้งนี้ บอร์ด กสทช. มองว่าข้อมูลดังกล่าวมีความจำเป็นสำหรับการออกแบบมาตรการเพื่อป้องกันการผูกขาดตลาดโทรคมนาคม หรือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลของ กสทช. ตามกฎหมายโดยให้สำนักงาน กสทช. รายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานที่มอบหมายต่อ กสทช. โดยเร็ว