บางจากฯ มั่นใจ บมจ. บีบีจีไอ เป็นแฟลกชิพสำคัญที่สร้างการเติบโตทางธุรกิจให้กลุ่มบางจากฯ จากรากฐานความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำด้านธุรกิจพลังงานชีวภาพรายใหญ่ของประเทศ ที่ต่อยอดนำเทคโนโลยี SynBio หรือ ชีวนวัตกรรม มาผลักดันสินค้าเกษตรไทยไปสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง สอดรับกับแนวโน้มความต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพซึ่งเป็นที่นิยมทั่วโลก พร้อมทั้งยังเป็น New S-Curve เสริมทัพเส้นทางธุรกิจสีเขียวและเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 ของกลุ่มบางจากฯ
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทบางจากฯ กล่าวว่า กลุ่มบางจากฯ ดำเนินธุรกิจด้วยการนำนวัตกรรมสีเขียวพัฒนาธุรกิจ สร้างความยั่งยืน เป็นผู้นำโมเดล Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG ซึ่งวันนี้ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่วางเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2030 และเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ Net Zero ในปี ค.ศ. 2050 การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนธุรกิจสีเขียวจึงยิ่งทวีความสำคัญ โดยมี บมจ. บีบีจีไอ เป็นหนึ่งในธุรกิจ New S-Curve ของการเสริมสร้างธุรกิจสีเขียวด้วยไบโอเทคโนโลยี ซึ่งเป็นคำตอบที่สำคัญมากในการผลักดันให้ทั่วโลกลดการบริโภคสินค้าที่ผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้บางจากฯ มั่นใจว่าบีบีจีไอจะเป็นอีกหนึ่งแฟลกชิพที่สร้างการเติบโตและสร้างรายได้ให้กับบางจากฯ
“ในขณะที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเรื่องภาวะโลกร้อน สัดส่วนของเชื้อเพลิงชีวภาพก็ยังต้องมีหรือมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เชื้อเพลิงชีวภาพจึงเป็นธุรกิจที่สำคัญและยังมีอนาคต และระหว่างนี้ บีบีจีไอ ซึ่งเป็นผู้นำด้านเชื้อเพลิงชีวภาพรายใหญ่ของประเทศยังได้มีการเพิ่มเติมจุดแข็ง ด้วยการปรับเปลี่ยนจากธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพหรือ Bio-Based Products โดยมุ่งเน้นที่ HVP (High Value Bio-based Products – ผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง) ด้วยเทคโนโลยี SynBio เพื่อตอบโจทย์การเติบโตทางธุรกิจ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของกลุ่มบางจากฯ”
โดยบางจากฯ ถือเป็นองค์กรแรกๆ ของประเทศไทยที่แนะนำเทคโนโลยี SynBio ให้เป็นที่รู้จักตั้งแต่ปี 2562 ผ่านการจัดสัมมนาประจำปีในหัวข้อ “SynBio Forum 2019” และได้ตั้งเป้าให้บีบีจีไอเป็นผู้นำทัพในการดำเนินธุรกิจนี้ ที่ได้รับการขนานนามว่าธุรกิจเปลี่ยนโลก
“SynBio เป็นนวัตกรรมสีเขียวที่สำคัญ เปรียบเสมือนการทำฟาร์มในห้องแล็บ ช่วยให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร สามารถลดพื้นที่ในการทำปศุสัตว์ และมีผลโดยตรงกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ที่ไม่เพียงแต่เป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าต่อยอดจากสินค้าเกษตรอันเป็นรากฐานของประเทศ แต่ยังเป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญที่มีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก สอดรับกับแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ดูแลสุขภาพ ซึ่งขยายตัวมากขึ้นกว่าเดิมทั่วทั้งโลกภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงอีกด้วย”
นายชัยวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย