รมว. ดีอีเอส ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง จ.ระยอง ติดตามความสำเร็จการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่อยอดธุรกิจ ลดต้นทุน-เพิ่มช่องทางขาย

วันนี้ (24 ส.ค.63) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ติดตามความสำเร็จโครงการการพัฒนาการจัดการคลังสินค้าสำหรับวิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง โดย วิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีบริหารจัดการร้านค้าและคลังสินค้ามาประยุกต์ใช้ ผ่านมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพด้านการซื้อ-ขายสินค้า ลดต้นทุน และสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชนไม่น้อยกว่า 650,000 บาทต่อปี

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ โดย สำนักงานส่งเสริมเศษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs หาบเร่ แผงลอย และชุมชน เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต ลดต้นทุนการผลิตนำไปสู่การสร้างรายได้เพิ่ม

ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนเนินสว่าง ได้นำระบบการบริหารจัดการองค์กร (ERP) มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ประกอบด้วยกระบวนการรับสินค้าเข้าคลังสินค้า (Inbound Process) การจัดเก็บสินค้าขึ้นชั้นวางในคลังสินค้า (Put away) การเคลื่อนย้ายสินค้าคงคลัง (Inventory Move) การหยิบ-บรรจุลงกล่อง และส่งสินค้าออกจากคลังสินค้า (Outbound Process) การนับสินค้าคงคลัง (Inventory Counting) การปรับจำนวนสินค้าในคลังสินค้า (Inventory Adjustment) และการจัดทำรายงานสินค้าคงคลัง (Inventory Reports) ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการซื้อ-ขายสินค้า และสร้างประสิทธิภาพในการส่งมอบสินค้าได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งช่วยลดต้นทุนในการผลิต ลดการสูญเสีย และเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มเฉลี่ย 10.5% เป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 650,000 บาทต่อปี

“ดีป้ายึดมั่นในการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิต และเพื่อเพิ่มรายได้ครัวเรือนในชุมชนทั่วประเทศ แต่แนวทางของดีป้านั้น จะไม่คิดแทน ทำแทน หรือ ทำให้ แต่จะใกล้ชิดกับชุมชน ร่วมลงรายละเอียดแนวทางในการพัฒนาธุรกิจของวิสาหกิจชุมชนอย่างแท้จริงและให้ชุมชนได้เข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนได้เรียนรู้เอง เลือกเอง ใช้เอง เกิดเป็นความยั่งยืน เพราะเกิดจากความเข้าใจของชุมชนเอง เช่นเดียวกับ วิสาหกิจชุมชนเนินสว่าง ที่เลือกใช้เทคโนโลยีระบบการบริหารจัดการองค์กร (ERP) เพื่อการจัดการธุรกิจ และทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักมากขึ้น ลดความซับซ้อนในการจัดการสินค้า รองรับยอดขายที่เพิ่มขึ้นเกิดเป็นรายได้เพิ่ม และทำให้ชุมชนอยู่รอดอย่างเข้มแข็ง” ผอ.ใหญ่ดีป้า กล่าวเสริม

นางสาว ศันสนีย์ เจริญรมย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง เผยว่า วิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง เป็นชุมชนที่ยึดอาชีพทำสวนยางพาราเป็นหลักและต่อยอดด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่าง ๆ ภายใต้แบรนด์ Kaika (ไก่กา) อาทิ เบาะนั่งสมาธิ อาสนะ เบาะรองนั่งทำงาน ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา เป็นต้น ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทยที่มีการบอกต่อกันและกลับมาซื้อสินค้า และจำหน่ายผ่านช่องทางการจำหน่ายทางเว็บไซต์ www.KaikaRubber.com ซึ่งที่ผ่านมาชุมชนประสบปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัตถุดิบในการผลิต สินค้าคงคลัง การรับสินค้า การจัด ทำสต๊อก การเติมสินค้า การจัดเก็บ การเลือกหรือหยิบสินค้าตามคำสั่ง การจัดส่งและการจ่ายสินค้าออกจากคลัง และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยดีป้ามีส่วนในการแนะนำและถ่ายทอดความรู้ในการที่จะเพิ่มการบริหารจัดการหน้าร้านและคลังสินค้าของ
วิสาหชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ให้ความเห็นว่า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงจะต้องร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่างในการวางแผนการดำเนินงานใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย (1.) การผลิตที่ต้องทำให้เกิดการแปรรูปสินค้าด้วยวัตถุดิบ (ยางพารา) ที่มีอยู่ ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดย ดีป้า จะต้องเข้ามามีส่วนช่วยในเรื่องของกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ (2.) การตลาดด้วยการวางแผนขายผ่านระบบออนไลน์บนเครืข่ายสัญญาณที่มีเสถียรภาพ ควบคู่กับการขนส่งสินค้าด้วยระบบการขนส่งของ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ (3.) ระบบบริหารจัดการข้อมูลที่จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและยอดขายสินค้า อีกทั้งสามารถนำมาใช้วางแผนการขาย การออกแบบ รวมถึงการทำตลาด

Related Posts

Scroll to Top