ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 – 9 ส.ค.) ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ ปรับลดลงอย่างมาก โดยได้รับแรงกดดันจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น หลังทางการจีนระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ และปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงเทียบดอลลาร์ สหรัฐฯ อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี ขณะที่ ประธานาธิบดีทรัมป์ ระบุว่า จะตัดความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทหัวเว่ย ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงปรับลดลงอย่างมาก ประกอบกับความวิตกกังวลต่อปัจจัยการเมืองในอิตาลี และความไม่แน่นอนในประเด็น Brexit ได้ส่งผลให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย สะท้อนจาก ราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์ สหรัฐฯ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับลดลงอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2016
สินทรัพย์ | 12/8/2562 | WoW (%) | YTD (%) |
S&P500 | 2,883.09 | 1.35 | 15.01 |
EuroStoxx 600 | 370.41 | 0.27 | 9.70 |
Nikkei 225* | 20,684.82 | -1.91 | 3.35 |
China (CSI300) | 3,699.11 | 0.64 | 22.87 |
Hong Kong (HSCEI) | 9,997.94 | -0.83 | -1.25 |
India* | 11,109.65 | 1.02 | 2.27 |
SET* | 1,650.64 | -2.02 | 5.55 |
Gold ($/Ounce) | 1,511.10 | 3.29 | 17.85 |
WTI ($/bl) | 54.93 | 0.44 | 20.96 |
*as of 9/8/2562
มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลก มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน ได้รับปัจจัยกดดันจาก ความกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่กลับมาทวีความรุนแรงขึ้น หลังจีนมีแนวโน้มออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯเพิ่มเติม จากก่อนหน้านี้ที่ทางการจีนกำหนดค่ากลางของเงินหยวนให้อ่อนค่ากว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์ สหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง และมีคำสั่งยกเลิกการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกรณีที่สหรัฐฯ ตัดสินใจไม่ขยายระยะเวลาผ่อนผันเกี่ยวกับการอนุญาตให้มีการอัพเดทซอฟท์แวร์ใน บริษัทหัวเว่ย ออกไปจากเดิมในวันที่ 19 ส.ค.นี้ นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ยูโรโซน และจีน ที่มีแนวโน้มชะลอลงรวมทั้ง GDP ในไตรมาส 2/2562 ของเยอรมนีที่มีแนวโน้มหดตัว จะเป็นปัจจัยกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยง ประกอบกับ ธนาคารกลางต่างๆ ของโลก ที่มีแนวโน้มส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินที่เร็ว และมากกว่าที่ตลาดคาด อาจส่งผลให้ตลาดกลับมาเพิ่มความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น สำหรับตลาดหุ้นโซนเอเชีย มีแนวโน้มปรับลดลงต่อ โดยได้รับแรงกดดันจากเงินหยวนที่อ่อนค่าต่อเนื่อง หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มอ่อนค่าในทิศทางเดียวกัน ประกอบกับความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ หลังการประชุมประท้วงในฮ่องกงยังคงยืดเยื้อ
ในส่วนของราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ จากความกังวลด้านอุปสงค์ในน้ำมันโลก หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) และสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ต่างปรับลดคาดการณ์การขยายตัวอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2562 และ 2563 ลง แม้ว่าจะมีรายงานว่า ซาอุดีอาระเบียกำลังหารือกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายอื่น เกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลงในระยะนี้ ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่า โอเปกอาจเพิ่มการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันก็ตาม
ด้านสินทรัพย์ปลอดภัย รวมถึง ราคาทองคำ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากความกังวลข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
- ติดตามท่าทีของทางการจีน โดยเฉพาะในประเด็น บริษัทหัวเว่ย หลังทางการสหรัฐฯ สั่งห้ามไม่ให้หน่วยงานของรัฐซื้ออุปกรณ์สื่อสารจากบริษัทของจีน 5 แห่ง ได้แก่ Huawei, ZTE, Hikvision, Hytera และ Dahua ซึ่งจะมีผลในวันที่ 13 ส.ค.นี้ และได้ชะลอการตัดสินใจให้ใบอนุญาตพิเศษแก่บริษัทสหรัฐฯ เพื่อดำเนินธุรกิจกับบริษัทหัวเว่ย นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มที่จะไม่ขยายระยะเวลาการยกเลิกคำสั่งห้ามธุรกิจสหรัฐฯ ร่วมงานกับบริษัทหัวเว่ย เป็นการชั่วคราว เกี่ยวกับการอนุญาตให้อัพเดทซอฟท์แวร์ ซึ่งจะมีผลถึง 19 ส.ค.นี้
- ติดตามสหรัฐฯ เปิดเผย รายละเอียดสินค้านำเข้าจากจีน (วงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ) ที่จะถูกปรับขึ้นภาษี ซึ่งคาดว่าจะเปิดเผยภายในสัปดาห์นี้ หลังจากที่ได้เข้าสู่กระบวนการทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
- ติดตามความไม่แน่นอนทางการเมืองในอิตาลี หลังจากรองนายกรัฐมนตรี ของอิตาลี ขอให้รัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีอิตาลี พร้อมทั้ง เรียกร้องให้อิตาลีมีการเลือกตั้งก่อนกำหนด
- คาดว่า GDP ในไตรมาส 2/2562 ของยูโรโซน (ประมาณการครั้งที่ 2) จะถูกปรับลดลงจากประมาณการครั้งก่อนหน้า และคาดว่า GDP ในไตรมาส 2/2562 ของเยอรมนี จะชะลอลง โดยตลาดคาดว่าจะหดตัว -0.1%QoQ ซึ่งลดลงจากในไตรมาส 1/2562 ที่ขยายตัว +0.4%QoQ
ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้
- ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ การลงทุนสินทรัพย์ถาวรของจีน / ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ อังกฤษ และจีน / เงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ อังกฤษ และอินเดีย/ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ยูโรโซน และจีน / ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW) / ดุลการค้าของยูโรโซน / GDP ใน ไตรมาส 2/2562 ของยูโรโซน และเยอรมนี