แบงก์ชาติผลักดันให้ ธพ. นำหลักความยั่งยืนมาใช้ในทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจ

นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) เปิดเผยว่า การพัฒนาที่ผ่านมาด้านหนึ่งทำให้เศรษฐกิจเติบโตและยังความเจริญให้เกิดขึ้นในหลายมิติ แต่อีกด้านก็ยากที่จะปฏิเสธว่าเรากำลังเผชิญปัญหาสำคัญในหลายเรื่อง อาทิ โลกร้อน ฝุ่นควัน ความเหลื่อมล้ำ หนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะภาคครัวเรือน การทุจริตคอร์รัปชัน การขาดธรรมาภิบาล ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไขก็ยากที่เศรษฐกิจและสังคมจะก้าวหน้าต่อได้อย่างราบรื่นในระยะยาว ในระดับโลกเผชิญปัญหาคล้ายกัน และแนวคิด “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (sustainability) ถูกพูดถึงว่าจะช่วยให้สังคมโลกพัฒนาได้ยั่งยืน สหประชาชาติประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นประเด็นทิศทางของปัญหา และช่วยกันแก้ไขในส่วนที่ตนทำได้

โจทย์สำคัญที่คุยกัน คือ เราทำอะไรได้บ้าง? ธปท. และสมาคมธนาคารไทยเห็นพ้องกันว่าสถาบันการเงินในฐานะผู้ทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรทุนในระบบเศรษฐกิจต้องมีบทบาทมากขึ้นในการร่วมแก้ปัญหา ซึ่งไม่ใช่แค่การทำดี การทำบุญเพื่อสังคม หรือแค่ทำ Corporate Social Responsibility (CSR)  หัวใจสำคัญของการธนาคารเพื่อความยั่งยืน หรือ sustainable banking คือ การทำธุรกิจของสถาบันการเงินจะต้องไม่เป็นต้นเหตุหรือซ้ำเติมปัญหาสังคมเหล่านี้ให้แย่ลง  กล่าวอีกนัยหนึ่ง การทำธุรกิจจะต้อง “มองกว้าง” กว่า “กำไรของบริษัท” โดยจะต้องคำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักความถูกต้องมีธรรมาภิบาลด้วย นอกจากนี้ การดำเนินงานจะต้อง “มองไกล” คือ ไม่มองสั้นเฉพาะวันนี้ แต่ต้องมองไกลไปในอนาคต คิดถึงคนใน generation หน้า

ธปท. สนับสนุนและขับเคลื่อนให้สถาบันการเงินนำหลัก sustainable banking มาใช้ในทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจจริง เพราะนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจของสถาบันการเงินไทยในบริบทที่โลกให้ความสำคัญกับมาตรฐานเรื่องต่าง ๆ มากขึ้นแล้ว ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาสังคมในระยะยาว ในลักษณะ win-win โดยวันอังคารที่ 13 สิงหาคม 2562 จะมีงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019  โดย highlight ของงานประกอบด้วย

  • – เป็นครั้งแรกที่สถาบันการเงินไทยจะประกาศข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการจัดทำแนวปฏิบัติการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Lending Guideline) ต่อเนื่องจากที่ ธปท. ได้ออก consultation paper เรื่องแนวนโยบายการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม เพื่อดูแลปัญหาหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือน
  • – การบรรยายและเสวนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะพูดถึงประสบการณ์จริงของการขับเคลื่อน Sustainable Banking ในประเทศต่างๆ
  • – นิทรรศการผลงานด้าน Sustainable Banking

เรื่องนี้คืบหน้าแค่ไหน? เป็นที่น่ายินดีว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินไทยเห็นถึงความสำคัญและผลักดันให้โครงการดีๆหลายเรื่องเกิดขึ้น แม้บางเรื่องจะทำให้กำไรปรับลง อาทิ การพัฒนาระบบพร้อมเพย์ ที่ช่วยให้ประชาชนโอนเงินได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม โครงการบัญชีเงินฝากพื้นฐานเพื่อคนไทย ที่ช่วยผู้สูงอายุและผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเปิดบัญชีได้ฟรี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าถึงบริการทางการเงินอื่น การจัดตั้งคลินิกแก้หนี้” เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่สุจริตที่มีหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลกับเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งปกติการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ทำยาก รวมทั้งการยกระดับกฎเกณฑ์ที่ดูแลประชาชนให้ได้รับบริการอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) การจัดทำกรอบจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และกรอบธรรมาภิบาลของผู้บริหารของสถาบันการเงิน มีการตั้งหน่วยงานภายในของสถาบันการเงิน เพื่อดูแลงานเรื่อง Sustainable Banking สถาบันการเงินไทย มีการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืน

คนไทย ธุรกิจไทย ได้อะไรจากเรื่องนี้? หลักการ sustainable banking จะช่วยให้ระบบการเงินของไทยโดยรวมมีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากขึ้น คนไทยโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยจะเข้าถึงบริการทางเงินได้ดีขึ้น
ในราคาที่ถูกลง ตรงกับความต้องการมากขึ้น มีภาระหนี้ลดลง

Related Posts

Scroll to Top