ลืมการเจริญเติบโตรูปพีระมิดไปเสียก่อน เพราะเป้าหมายของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council – ABAC) คือการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่เท่าเทียมกันมากขึ้น นั่นคือการทำให้วิสาหกิจขนาดย่อย (Micro) ขนาดย่อม (Small) และขนาดกลาง (Medium) ต่างเจริญเติบโต คล้ายกับป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีชีวิตชีวาได้นั้น ย่อมมาจากต้นไม้ทุกประเภทอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยกัน การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดย่อย ขนาดย่อม และขนาดกลาง ( (MSMEs) นับเป็นหนึ่งในห้ากลยุทธ์ของการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ประจำปีนี้ โดยนอกจากนี้กลยุทธ์อีก 4 ประการ ได้แก่ การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค, ดิจิทัล, ความยั่งยืน ตลอดจนการเงินและเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ทำไมต้องสนับสนุน MSMEs?
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “นั่นเพราะกลุ่มที่เสี่ยงที่สุดที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19, ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น คือกลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อย ขนาดย่อม และขนาดกลาง (MSMEs)”
แม้ MSMEs จะเป็นกลุ่มวิสาหกิจขนาดเล็กที่กระจายอยู่ในระบบนิเวศเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การสร้างรายได้จากกลุ่มนี้คิดเป็น 99.5% ของกลุ่มวิสาหกิจทั้งหมดในประเทศและทำให้เกิดการจ้างงานมากกว่าสามในสี่ของกำลังแรงงาน ส่วนในระดับโลก MSMEs ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างงานและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยในตลาดเกิดใหม่ งานที่เป็นทางการส่วนใหญ่เกิดจากภาค SMEs โดยคิดเป็น 7 ใน 10 งาน ตามข้อมูลของธนาคารโลก
สำหรับมุมมองจากนายเกรียงไกร ภารกิจไม่ใช่แค่การนำกลุ่มเปราะบางเข้ามามีส่วนร่วม แต่ยังเป็นเรื่องของการ ‘ช่วยเรา, ช่วยเขา’ อีกด้วย
“MSMEs เป็นหน่วยที่สำคัญของห่วงโซ่อุปทาน เมื่อพวกเขาประสบปัญหา ผลกระทบจะส่งผลไปตลอดทั้งห่วงโซ่ นั่นคือต่อกลุ่มบริษัทใหญ่ๆ และผู้บริโภคทั้งหมดในที่สุด” นายเกรียงไกรกล่าว “ในช่วงเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ โอกาสจะเป็นของคนที่พร้อมที่จะปรับตัว” เขากล่าวเสริม
ดาโต๊ะ โรฮาน่า ตัน ศรี มาห์มูด (Dato’ Rohana Tan Sri Mahmood) ประธานคณะทำงานด้าน ‘MSME & Inclusiveness’ ของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 กล่าวว่า ความสำคัญของการสนับสนุน MSME นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด “ธุรกิจ 97 เปอร์เซ็นต์ของ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปคนั้น คือ MSMEs อย่างในมาเลเซีย MSMEs คิดเป็น 97.4% ของการประกอบธุรกิจทั้งหมดในปี 2564” เธอกล่าว “และสำหรับเศรษฐกิจของเอเปคนั้น MSMEs จำนวนมากประกอบด้วยวิสาหกิจขยายย่อย (Micro) เช่น วิสาหกิจที่นำโดยผู้หญิง เยาวชน และชนพื้นเมือง”
ดาโต๊ะ โรฮาน่าให้ความเห็นว่า “เมื่อ MSMEs เป็นหัวใจของทุก ๆ เขตเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก ฉะนั้นแล้วพวกเขาจะไม่ถูกมองว่ามีความสำคัญได้อย่างไร สำหรับการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ซึ่งจะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Embrace, Engage, Enable” คณะทำงานด้าน ‘MSME & Inclusiveness’ ของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 ได้เน้นที่ 4 ประเด็นสำคัญ นั่นคือ 1 การส่งเสริมด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของ MSMEs ซึ่งเป็นประการที่ว่านับสำคัญที่สุด
“แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย แต่วิถีชีวิตใหม่ที่ผู้คนต้องพึ่งพาการค้าและบริการออนไลน์ ได้กลายเป็น ‘next normal’ ไปเสียแล้ว” นายเกรียงไกรกล่าว
นายเกรียงไกรกล่าวว่าผู้ประกอบการบางราย สามารถปรับตัวเองไปกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลได้ โดยประสบความสำเร็จในกระบวนการปรับโมเดลเป็นธุรกิจออนไลน์ ลดต้นทุน และสามารถทำกำไรได้ อย่างไรก็ดี ยังนับเป็นกรณีที่มีไม่มากนักในประเทศไทย “ความท้าทายไม่ใช่แค่การให้ความรู้กลุ่ม MSMEs ในการทำให้เป็นดิจิทัล แต่จะทำอย่างไรให้พวกเขาได้รับประโยชน์สูงสุดจากธุรกิจรูปแบบใหม่ เคล็ดลับของการค้าดิจิทัลคืออะไร? กฎและกฎหมายมีอะไรบ้าง หรือสิ่งใดที่พวกเขาควรหลีกเลี่ยง ในกรณีที่จำเป็นต้องประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ” นายเกรียงไกรกล่าว
นายเกรียงไกรกล่าวว่าสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค มีแผนที่จะแนะนำผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคว่า MSMEs มีความจำเป็นในการได้รับการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลใหม่ กล่าวคือแพลตฟอร์มหรือตลาดใหม่ ที่สามารถรองรับวิสาหกิจส่วนใหญ่ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงช่องทางออนไลน์ที่มีอยู่ได้
ดาโต๊ะ โรฮาน่า กล่าวด้วยว่าประเด็นสำคัญคือ “คุณต้องทำให้ MSMEs สามารถเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ได้ง่ายขึ้น คุณไม่สามารถคาดหวังให้พวกเขากรอกแบบฟอร์มที่ซับซ้อน อ่านเอกสารอะไรมากมาย หรือแม้แต่การทิ้งเวลาอันมีค่าจากธุรกิจของพวกเขา มาเข้าร่วมหลักสูตรเสริมสร้างศักยภาพที่ใช้เวลานานและบางครั้งก็มีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องถามคำถามที่สำคัญ เช่น เราจะอำนวยความสะดวกให้กลุ่ม MSMEs เริ่มต้นใช้งานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างไร”
นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีการทำงานมากขึ้นเพื่อช่วยให้บริษัทขนาดเล็กสามารถปรับตัวให้เข้ากับเศรษฐกิจโลกที่เชื่อมโยงถึงกันซึ่งมีการขับเคลื่อนทางเทคโนโลยีที่มากขึ้น “เราจะทำให้ MSMEs เข้ามาทำงานร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ได้อย่างไร เพื่อที่พวกเขาจะได้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่า (value chain) พวกเขาต้องเข้าใจด้วยว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของบริษัทต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปมากแล้วเพียงใด และความจริงที่ว่าถ้าพวกเขาไม่ปรับตัวเป็นดิจิทัล พวกเขาจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไร พวกเขาต้องมั่นใจด้วยว่ายังคงมีความเกี่ยวข้อง และเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องปรับปรุงความยืดหยุ่นของ MSMEs เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจหลังการสิ้นสุดโรคระบาด เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องให้พวกเขาสามารถเข้าถึงทางด้านการเงิน เราต้องให้พวกเขาเข้าถึงแหล่งข้อมูลดิจิทัลที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เราต้องช่วยให้พวกเขาเริ่มค้าขายออนไลน์ และเราต้องคิดหาวิธีที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจของพวกเขามีความคล่องตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น” ดาโต๊ะ โรฮาน่ากล่าว
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญลำดับที่ 2 ของคณะทำงานด้าน MSME & Inclusiveness คือการส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน
นายเกรียงไกรเปรียบเทียบ MSMEs ดั่งถั่วงอก กล่างคือถั่วงอกนั้นสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วโดยใช้ทรัพยากรน้อย “นัยคือพวกเขาเกิดขึ้นได้เร็วแต่หลายคนอาจอยู่ไม่ได้นาน คนที่ออกไปบางรายก็ด้วยเหตุผลบางประการเท่านั้น แต่ก็ยังนับเป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่มีรากแก้วที่จะเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน”
แม้ว่าการอยู่รอดยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่การดูแลสิ่งแวดล้อมและปัญหาที่ทั่วโลกกังวล เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือการใช้แรงงานโดยชอบธรรม ก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย เพื่อให้ MSMEs อยู่รอดได้ในอนาคต
ดาโต๊ะ โรฮาน่ากล่าวว่าแม้ว่าความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนา MSMEs ในระยะยาว แต่การอยู่รอดของธุรกิจควรเป็นปัญหาเร่งด่วนหลังภาวะโรคระบาดสิ้นสุดลง “เราทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า MSMEs มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ เรายังเห็นด้วยว่าในขณะที่ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่สำคัญ และเราต้องการที่จะมั่นใจว่าบริษัทต่างๆ มีความยั่งยืนในแง่ของมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล … แต่คำถามคือ ความยั่งยืน คือสิ่งที่เราควรโฟกัสในตอนนี้หรือไม่ หรือว่าคือความอยู่รอด?”
โดยธรรมดาแล้ว บริษัทขนาดเล็กมักขาดทรัพยากรและความสามารถในการปรับตัว ต่างจากบริษัทระดับชาติหรือบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีสิ่งเหล่านี้พร้อมอยู่แล้ว “บริษัทใหญ่สามารถทำอะไรได้มากมาย พวกเขาสามารถนำแนวทางปฏิบัติมาใช้กับขนาดองค์กรของพวกเขา รวมถึงการเข้าถึงทุน แต่เมื่อคุณมองกลับมาที่ MSMEs สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องทำขณะนี้ คือต้องแน่ใจว่าพวกเขาตระหนักดีว่า เพื่อที่จะอยู่รอด พวกเขาจะต้องตระหนักถึงประเด็นด้านความยั่งยืนทั้งหลาย เราไม่สามารถกำหนดสิ่งที่เรากำหนดให้กับบริษัทขนาดใหญ่ต่อกลุ่ม MSMEs ได้” ดาโต๊ะ โรฮาน่า กล่าวเสริม
เธอยังเห็นด้วยว่า ผู้กำหนดนโยบายควรนำแนวทางแบบหลายมิติเพื่อช่วย MSMEs ในการปรับตัว เช่น การจัดหาโครงการเสริมสร้างศักยภาพที่เหมาะสม การสามารถเข้าถึงเงินทุน และส่งเสริมทรัพยากรด้านความรู้ ในขณะที่การสนับสนุนด้านการเงินนั้น สามารถเชื่อมโยงกับเงื่อนไขที่ธุรกิจจะต้องบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนบางอย่าง วิสาหกิจนั้นๆ จึงจะมีสิทธิ์ในการรับเงินทุน เหล่านี้จึงจะสามารถสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงได้
“โดยสมมุติฐานแล้ว ถ้าดิฉันเป็น MSMEs และมีความกังวลเกี่ยวกับกระแสเงินสด คุณจะคาดหวังให้ฉันกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วยหรือไม่? คุณต้องการให้ฉันกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่? เราต้องให้ผู้กำหนดนโยบายและให้ MSMEs ทราบเรื่องนี้ นี่คือหน้าที่ของรัฐบาล”
เธอกล่าวด้วยว่า จริงๆแล้ว บริษัทขนาดเล็กมีความเข้าใจถึงความสำคัญของความยั่งยืน และการเติบโตในระยะยาวนั้นไปด้วยกันได้กับความตระหนักในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ
ลำดับความสำคัญหลักที่ 3 สำหรับคณะทำงานด้าน MSME & Inclusiveness คือความจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่า MSMEs มีความสามารถทางการเงินที่เพียงพอ วิธีหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายนี้คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของตลาดดิจิทัลในการอำนวยความสะดวกต่อ MSMEs ในด้านสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ
การไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนเป็นข้อจำกัดทั่วไปที่ MSMEs ทั่วโลกเผชิญ นายเกรียงไกรเห็นว่า ธนาคารหรือสถาบันการเงินสามารถใช้ผลการดำเนินธุรกิจ ธุรกรรมจริงที่เกิดขึ้น หรือประวัติการจัดซื้อจัดจ้างมาเป็นแนวทางทางเลือกในการช่วยให้ MSMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ดาโต๊ะ โรฮาน่า กล่าวเสริมว่า ในขณะที่สมาชิกเอเปคจำนวนมากได้ดำเนินโครงการความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับ MSMEs อย่างไรก็ดี การระดมทุนก็ยังคงเป็นประเด็นที่สำคัญ
“จากสถานการณ์โควิด เราจะพบว่ามี MSMEs ล้มหายไปจำนวนนับไม่ถ้วน พวกเขากำลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอด และนั่นเป็นเหตุผลที่เรากำลังบอกว่า เราต้องรีเซ็ตระบบต่างๆของเรา เราต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า MSMEs สามารถเข้าถึงเงินทุนได้” เธอกล่าว
ประเด็นสำคัญลำดับที่ 4 สำหรับคณะทำงานด้าน MSME & Inclusiveness คือการส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มที่ด้อยโอกาส รวมทั้งผู้หญิง เยาวชน และชนพื้นเมือง
นายเกรียงไกร ยืนกรานว่า หัวใจของความเท่าเทียมคือการไม่แบ่งแยก แม้ว่าประเทศไทยจะมีความโดดเด่นในแง่ของการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในธุรกิจ ดังที่พบว่าสัดส่วนของซีอีโอหญิงในประเทศไทยนั้นนับว่าสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง แต่ความท้าทายนี้ยังพบได้ในประเทศอื่นๆ ที่การเลือกปฏิบัติยังคงขึ้นอยู่กับเพศ เชื้อชาติ หรืออายุ
ดาโต๊ะ โรฮาน่า ตั้งข้อสังเกตว่าตลอดช่วงการระบาดใหญ่ ผู้หญิง เยาวชน และชนพื้นเมืองเป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด เธออ้างรายงานจากบริษัทที่ให้คำปรึกษา McKinsey and Co ว่า ในขณะที่ผู้หญิงคิดเป็น 39% ของการจ้างงานทั่วโลก แต่ในกลุ่มที่สูญเสียงานสืบเนื่องจากโควิด สัดส่วนผู้หญิงคิดเป็น 54% โดยรายงานยังระบุด้วยว่างานของผู้หญิงมีความเสี่ยง 1.8 เท่ามากกว่างานของผู้ชายในช่วงการระบาดใหญ่
“จำนวนเหล่านี้คือวิสาหกิจขนาดย่อย (Micro) โดยในประเทศไทยและในมาเลเซีย กลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และ 70% ของประชากรพื้นเมืองของโลกอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สิ่งที่สำคัญก็คือ เราต้องทำอะไรมากกว่านี้เพื่อปลดล็อกศักยภาพของผู้หญิงและผู้ด้อยโอกาส” ดาโต๊ะ โรฮาน่า กล่าวปิดท้าย