นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานให้โอวาทในพิธีเปิดโครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่(From Gen Z to be CEO) ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
นายจุรินทร์ กล่าวถึงกรณีธุรกิจส่งออกรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถปิกอัพของไทยถูกฟิลิปปินส์ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวนโดยใช้กลไก Safeguard โดยระบุว่าเรื่องนี้ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ธุรกิจส่งออกรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถปิกอัพของไทยถูกฟิลิปปินส์ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวนโดยใช้กลไกมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือ Safeguard เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมภาษีหรือรายได้เพิ่มจากการผู้นำเข้าฟิลิปปินส์นำเข้ารถส่วนบุคคลหรือปิกอัพจากไทยจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ไทยไปฟิลิปปินส์ และทางฟิลิปปินส์ได้เริ่มการไต่สวน Safeguard รถยนต์ 2 ประเภทของไทยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ฟิลิปปินส์เรียกเก็บอากรสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถปิกอัพของไทยโดยเก็บจากผู้นำเข้าฟิลิปปินส์แต่กระทบการส่งออกไทยเพราะทำให้ผู้นำเข้ามีต้นทุนมากขึ้นโดยเรียกเก็บอากรรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 42,000 บาทต่อคัน เรียกเก็บรถปิกอัพ 66,000 บาทต่อคัน ส่งผลให้ผู้นำเข้ารถยนต์ 2 ประเภทของฟิลิปปินส์ที่นำเข้าจากไทยต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 1,200 ล้านบาท
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่ประเทศไทยโดยตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และราชการร่วมกับเอกชนดำเนินการแก้ปัญหา คือ 1. ตั้งทีมไทยแลนด์ขึ้นมาเพื่อเจรจาและจัดทำข้อมูลโต้แย้งฟิลิปปินส์ โดยทีมประกอบด้วยกรมการค้าต่างประเทศ ทูตพาณิชย์ประจำฟิลิปปินส์ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการประชุมหารือกันอย่างใกล้ชิดหลายครั้ง2.ทำหนังสือไปถึงรัฐมนตรีการค้าของฟิลิปปินส์ 2 ครั้ง โดยสาระสำคัญขอให้การไต่สวน Safeguard รถยนต์ไทยครั้งนี้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลกหรือ WTO ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะฟ้องร้องฟิลิปปินส์ต่อ WTO ต่อไป
การที่เราจับมือกันนำทีมไทยแลนด์เพื่อเจรจาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของฟิลิปปินส์ประสบความสำเร็จแล้วเพราะวันที่ 6 สิงหาคมฟิลิปปินส์ประกาศยุติการไต่สวนแล้วและทำการคืนเงิน 1,200 ล้านบาท จากผู้นำเข้ารถยนต์ 2 ประเภทให้กับผู้นำเข้า จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ 2 ประเภทของไทยในตลาดฟิลิปปินส์ได้ประมาณ 60,000 ถึง 70,000 ล้านบาท ซึ่งฟิลิปปินส์นำเข้ารถปิกอัพจากไทยถึง 99% จากการนำเข้าทั้งหมดและนำเข้ารถเก๋งส่วนบุคคลจากไทย 20% จากการนำเข้ารถยนต์ทั้งหมด
” ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่เราสามารถจับมือกับเอกชนต่อสู้ชี้แจงทำความเข้าใจจนประสบความสำเร็จ ซึ่งต้องถือว่ายังไม่ถึงกับได้รับผลกระทบเพราะจะเริ่มกระทบในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 แต่เมื่อได้รับการสั่งให้ยุติการไต่สวนก็ถือว่าสามารถรักษาตลาดการส่งออกรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและปิกอัพไทยไปฟิลิปปินส์สามารถเดินหน้าและเดินหน้านำรายได้เข้าประเทศได้จำนวนมหาศาล ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ทางด้าน นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องนี้เป็นนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ท่านจุรินทร์ ที่สั่งการให้จัดตั้งทีมไทยแลนด์และติดตามกำชับอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จ ถือว่าจะเป็นโอกาสการส่งออกของประเทศไทยเพื่อการนำรายได้เข้าประเทศ การยุติการไต่สวนมาตรการปกป้องในครั้งนี้ถือเป็นข่าวดีของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยโดยฟิลิปปินส์ถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 4 ของไทย รองจากออสเตรเลีย เวียดนาม และญี่ปุ่น
ปัจจัยสําคัญที่ทําให้ฟิลิปปินส์ก้าวขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกรถยนต์สําคัญของไทย เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีข้อตกลงเปิดเสรีสินค้าระหว่างกัน โดยอัตราอากรนําเข้าสินค้ายานยนต์ของ ฟิลิปปินส์ได้ลดลงจากร้อยละ 30 มาอยู่ที่ร้อยละ 0 ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกําเนิดสินค้า Form D ที่ออกโดย กรมการค้าต่างประเทศกํากับ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอันดับต้นๆ