นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาสรุปผลการศึกษา
(สัมมนาปัจฉิมนิเทศโครงการ) โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาข้อมูลโครงการด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์การเงินการลงทุน และด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรูปแบบความเหมาะสมด้านการลงทุนโครงการ ที่มีความเหมาะสม ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยงานต่างๆ
ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการสัมมนา
โดยมีรายละเอียดผลการศึกษา ดังนี้ โครงการมีแนวเส้นทางโครงการเริ่มต้นจากบริเวณทางเชื่อม
ระหว่างถนนรามอินทรากับถนนประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีวัชรพล จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าลงมาทางทิศใต้ตามถนนประดิษฐ์มนูธรรมฝั่งทิศทางขาออก โดยวางโครงสร้างบนทางเท้าและทางจักรยานข้ามถนนประเสริฐมนูกิจ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่สถานีคลองลำเจียก แนวเส้นทางยังคงมุ่งหน้าลงทางทิศใต้ ข้ามถนนลาดพร้าว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่สถานีฉลองรัช ผ่านถนนประชาอุทิศ และข้ามทางพิเศษศรีรัชที่แยกพระราม 9- ประดิษฐ์มนูธรรม เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีพระราม 9 จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวที่แยกเอกมัยเหนือมาทางทิศตะวันตกเข้าสู่แนวเกาะกลาง ของถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และเลี้ยวลงมาทางทิศใต้เข้าสู่ถนนทองหล่อ จนกระทั่งมาสิ้นสุดเส้นทางที่บริเวณ ปากซอยสุขุมวิท 55 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีทองหล่อ รวมระยะทางทั้งหมด 16.3 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีจำนวน 15 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง อยู่ที่บริเวณสถานีวัชรพลและมีการออกแบบสถานีรถไฟฟ้า แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ 1.ชานชาลากลาง บนโครงสร้างโครงข้อแข็ง เป็นสถานีที่ชานชาลาอยู่ตรงกลาง ขนาบด้วยรางรถไฟทั้ง 2 ข้าง ใช้กับสถานีต้นทางและปลายทาง จำนวน 2 สถานี 2.ชานชาลาข้าง รองรับด้วยเสาเดี่ยว เป็นสถานีที่ชานชาลาแยกเป็น 2 ข้าง ตรงกลางเป็นรางรถไฟ 2 รางที่อยู่ติดกัน ใช้กับสถานีที่อยู่ตามแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรม จำนวน 10 สถานี 3.ชานชาลาข้าง บนโครงสร้างโครงข้อแข็ง เป็นสถานี
ที่ชานชาลาแยกเป็น 2 ข้าง แต่มีขนาดแคบกว่า 2 รูปแบบข้างต้น เพื่อให้สามารถตั้งบนถนนในซอยทองหล่อ
ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งปลูกสร้างโดยรอบ จำนวน 3 สถานี
สำหรับรูปแบบของการพัฒนาโครงการ มีรูปแบบการพัฒนาเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail)
มีระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ ความเร็วเฉลี่ยในการเดินรถ 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางไป – กลับ 62 นาที สามารถรองรับผู้โดยสารประมาณ 8,000 – 20,000 คน/ชั่วโมง โดยจากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร จะมีประชาชนเข้ามาใช้บริการในปี 2573 ซึ่งเป็นปีที่เปิดให้บริการ จำนวน 97,000 คน-เที่ยวต่อวัน
ทั้งนี้ โครงการได้ดำเนินการวิเคราะห์และศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนและเอกชนที่เหมาะสม
ในการดำเนินงานโครงการ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินงาน โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
1.PPP Net Cost เอกชนเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านรายได้ และเป็นผู้จ่ายค่าสัมปทานหรือส่วนแบ่งรายได้
ให้แก่ภาครัฐ 2.PPP Gross Cost ภาครัฐเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านรายได้ และเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทน
จากการให้บริการแก่เอกชน 3.PPP Modified Gross Cost ภาครัฐเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านรายได้และเป็นผู้จ่ายค่าตอบแทน จ่ายค่าตอบแทนพิเศษ หากเอกชนดำเนินการดีกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจากการให้บริการแก่เอกชน
ภายหลังการสัมมนาครั้งนี้ กรุงเทพมหานคร จะดำเนินการจัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาและรูปแบบ
การลงทุนที่เหมาะสมของโครงการนี้ เพื่อนำเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาและให้ความเห็นชอบ จากนั้นนำเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรีได้ภายในปี 2566 ส่วนขั้นตอนการจัดทำเอกสารร่วมลงทุนและคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะใช้จะเริ่มได้ภายในปี 2567 – 2568 จากนั้นขั้นตอนการก่อสร้างและทดสอบระบบใช้เวลาประมาณ 4 ปี ระหว่าง ปี 2569-2572 เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2573