เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 5/2562
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.
ในวันที่ 7 สิงหาคม 2562
คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ขณะที่ 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี
ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าที่หดตัวและเริ่มส่งผลไปสู่อุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนกรรมการ 2 ท่านเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภาวะที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอยู่แล้ว อาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังมีความจำเป็นที่ต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต
เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยการส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ตามเศรษฐกิจคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ของครัวเรือนนอกภาคเกษตรและการจ้างงานที่ปรับลดลง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตเพื่อส่งออก รวมทั้งยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ตามการลงทุนภาครัฐซึ่งส่วนหนึ่งจากข้อจำกัดด้านการเบิกจ่าย รวมทั้งการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่คาดว่าจะล่าช้า ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่สูงขึ้น แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งจะติดตามการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่และการใช้จ่ายภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่ปรับลดลงเร็ว รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่มีแนวโน้มชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต
ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง แต่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยน คณะกรรมการฯ ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในสภาวะที่การกีดกันทางการค้ารุนแรงขึ้น จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม
ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ทั้งนี้ ในระยะต่อไปที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ยิ่งต้องมีบทบาทมากขึ้น
ในการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน
มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบของสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน
ธนาคารแห่งประเทศไทย
7 สิงหาคม 2562
ข้อมูลเพิ่มเติม: ส่วนกลยุทธ์นโยบายการเงิน
โทรศัพท์: 0 2283 6186, 0 2356 7872
E-mail: MPStrategyDiv@bot.or.th
ในยุคที่โลกหมุนเร็วด้วยเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว การทำความเข้าใจความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับแบรนด์ต่างๆ และหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ทรงอิทธิพลที่สุดในปัจจุบันก็คือ Gen Z หรือคนรุ่นใหม่ที่เกิดระหว่างปี 1997 ถึง 2012 พวกเขาเติบโตมากับโลกดิจิทัล มีมุมมองที่แตกต่าง และให้ความสำคัญกับคุณค่าที่หลากหลาย บทความนี้จะพาคุณไปเจาะลึกถึง Gen Z…
"ฟอร์ติเน็ต" เผยรายงานช่องว่างด้านทักษะไซเบอร์ ชี้ 92% ขององค์กรในไทยเผชิญภัยคุกคามจากปัญหาขาดแคลนบุคลากร แนะ 3 แนวทางรับมือ ผนึกกำลังภาครัฐ-เอกชน สร้าง "กองทัพไซเบอร์" ปกป้องเศรษฐกิจดิจิทัล ฟอร์ติเน็ต เปิดเผยรายงานช่องว่างด้านทักษะความปลอดภัยทางไซเบอร์ทั่วโลกประจำปี 2024…
FUJIFILM Business Innovation (Thailand) Co., Ltd., a leading provider of office solutions and innovative printing…
FUJIFILM Business Innovation ผู้ให้บริการโซลูชันสำนักงานและเครื่องพิมพ์ ประกาศทิศทางกลยุทธ์ไตรมาส 3 ปี 2024 ภายใต้แนวคิด "Make a Leap to the New…
Solar D เปิดตัว “หุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์” นวัตกรรมสุดล้ำ Light Speed ติดตั้งเร็วกว่าแรงงานคนถึง 10 เท่า! ชูจุดเด่นลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ หนุนเป้าหมายเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2569…
วันนี้ (26 พฤศจิกายน 2567) นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม…