นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการสายการบินของไทยและต่างประเทศ, ผู้ประกอบการสนามบิน ,ผู้แทนจาก สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) และผู้แทนจากคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินประเทศไทย (AOC) เพื่อชี้แจงข้อกำหนดและเงื่อนไขการเดินอากาศใหม่ ที่องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) และ IATA ได้กำหนดภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า2019(โควิด-19) ให้สายการบินและผู้ประกอบการสนามบินได้รับทราบถึงมาตรการและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน หากรัฐบาล หรือ ศบค. มีการผ่อนปรนให้สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ และ กพท. ประกาศเปิดน่านฟ้าให้ทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศได้ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน /
ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดในการยกเลิกการเว้นที่นั่งภายในเครื่องบิน , การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์กรองอากาศและระบบหมุนเวียนอากาศภายในเครื่องบินให้เหมาะสม , ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทาง , ห้ามเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มในเส้นทางที่ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง, การจัดเตรียมอาหารและน้ำดื่มจะต้องมีการปิดผนึกแพคเกจอย่างเรียบร้อย นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดในการกันพื้นที่นั่งแยกไว้รองรับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยออกจากผู้โดยสารปกติ โดยสายการบินจะต้องประเมินความเสี่ยงของเส้นทางที่จะไป หากเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง ถือว่าความเสี่ยงต่ำ จะกันพื้นที่ไว้หรือไม่ก็ได้
ส่วนการเปิดน่านฟ้าให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ต้องอยู่ภายใต้การตัดสินใจของ ศบค. และ รัฐบาล เบื้องต้นมองว่านักธุรกิจมีความเสี่ยงน้อยกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป เนื่องจากแต่ละบริษัทจะมีมาตรการคัดกรองและดูแลสุขภาพของผู้ที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศอยู่แล้วและสามารถตรวจสอบได้
อย่างไรก็ตามจากการหารือในวันนี้ สายการบินต่าง ๆ ยังไม่มีการส่งสัญญาณว่าจะเริ่มกลับมาบินในเส้นทางระหว่างประเทศ เนื่องจากข้อกำหนดการปิดน่านฟ้าของ กพท. ยังมีผลบังคับใช้ถึง 30 มิ.ย.นี้ โดยส่วนใหญ่ยังต้องการทราบแนวทางและมาตรการในทางปฏิบัติที่ชัดเจนจากภาครัฐ รวมถึงขั้นตอนที่ผู้โดยสารต้องปฏิบัติหากต้องการเดินทางไปต่างประเทศ และมาตรการของประเทศปลายทาง เพื่อประเมินสถานการณ์และความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะกลับมาเปิดบินอีกครั้งเมื่อไหร่ ซึ่งขณะนี้สายการบินยังไม่สามารถประเมินปริมาณความต้องการของผู้โดยสารได้ และอาจต้องรอดูสถานการณ์จนถึงสิ้นเดือนนี้ เพื่อไม่ให้การกลับมาบินอีกครั้งทำให้ต้องประสบภาวะขาดทุน หรือ ไม่คุ้มทุน
ทั้งนี้จากข้อมูลของ IATA ที่ทำการสำรวจข้อมูลจาก 122 สายการบินทั่วโลก พบว่า การทำการบินแต่ละครั้ง จะต้องมีผู้โดยสารบนเครื่องบิน(Load Factor) ไม่น้อยกว่า 77% จึงจะคุ้มทุน หากจำนวนผู้โดยสารต่ำกว่านั้น อาจเสี่ยงกับการขาดทุนได้
ผอ.กพท. ยังคาดการณ์ว่าปีนี้จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางทางอากาศในส่วนของประเทศไทย จะหายไปถึง 70% และเหลือเดินทาง 30% เท่านั้น เกือบทั้งหมดเป็นเส้นทางภายในประเทศ อย่างไรก็ตามคาดว่า การบินในเส้นทางระหว่างประเทศ จะเริ่มกลับมาได้ในช่วงเดือน กันยายน 2563 นี้