นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะโฆษก กฟน. เปิดเผยว่า จากการที่มีการโฆษณาขายอุปกรณ์ที่ช่วยลดค่าไฟฟ้า ผ่านช่องทาง Facebook Fanpage : Expert Electric พร้อมละเมิดแอบอ้างโดยการนำภาพข่าวของ กฟน. ไปตัดต่อสร้างความน่าเชื่อถือใช้โฆษณาชวนเชื่อหลอกลวงประชาชนนั้น กฟน. ขอชี้แจงว่า กฟน. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Facebook Fanpage และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่โฆษณาแต่อย่างใด และขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวฯ ไม่สามารถประหยัดไฟฟ้าได้จริงและอาจส่งผลให้ระบบไฟฟ้าผิดปกติหรือกระทบต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งอาจมีความผิดตามกฎหมายได้ ทั้งนี้ กฟน. กำลังตรวจสอบและพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ละเมิดแอบอ้างต่อไป
สำหรับอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าที่มีอยู่จริงนั้น จะนำมาใช้ในบางกรณีสำหรับภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น เป็นอุปกรณ์ที่มีราคาสูงซึ่งจะประหยัดไฟฟ้าได้ในลักษณะการเรียกเก็บค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ เช่น กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ หรือกิจการเฉพาะอย่าง ดังนั้น ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยทั่วไปแทบจะไม่ได้รับประโยชน์จากการติดตั้งเครื่องประหยัดไฟฟ้าเหล่านี้ แต่สำหรับอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าที่จำหน่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์นั้น อาจเข้าข่ายหลอกหลวงผู้บริโภค โดย กฟน. ตรวจสอบพบมี 3 ลักษณะคือ 1) เป็นกล่องหรือตู้ที่มีสายไฟสำหรับเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้า ส่วนใหญ่ภายในเป็นเพียงตัวเก็บประจุ และประเภทที่ภายในไม่มีส่วนที่เป็นวงจรไฟฟ้าเลยมีเพียงวัสดุสำหรับถ่วงน้ำหนักบรรจุไว้เท่านั้น 2) เป็นอุปกรณ์สำหรับเสียบเข้ากับเต้ารับไฟฟ้าโดยตรง และ 3) เป็นบัตรสำหรับติดหรือแปะกับตู้จ่ายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม กฟน. ขอแนะนำวิธีการประหยัดไฟฟ้าที่เหมาะสมที่สุดและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ คือ การปรับเปลี่ยนวิธีการพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าโดยเปิดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเฉพาะเวลาที่ต้องการใช้งานและปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าในเวลาที่ไม่ได้ใช้งาน รวมถึงการปรับตั้งค่าการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าให้เหมาะสม โดยเฉพาะการปรับตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ ไม่ควรต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส เนื่องจากการปรับตั้งอุณหภูมิที่ต่ำเกินไปจะทำให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักขึ้น ไม่ควรเปิด-ปิดตู้เย็นบ่อยครั้งจะส่งผลให้สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นด้วย อีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยประหยัดไฟฟ้าได้คือ การเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น หลอดไฟฟ้าชนิด LED เลือกใช้เครื่องปรับอากาศชนิดอินเวอร์เตอร์ ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้รับฉลากอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยหรือข้อแนะนำเพิ่มเติมสามารถติดต่อผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ของ กฟน. ได้แก่ Facebook : การไฟฟ้านครหลวง (MEA) Line@ : @meanews Twitter : @mea_news รวมถึงแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงเขต ได้ทุกแห่ง และแจ้งผ่านศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 ที่พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง