นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ทิศทางการขับเคลื่อนของ กฟผ. ยังคงมุ่งสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ทำให้รูปแบบการผลิตไฟฟ้ามีความหลากหลายมากขึ้น การดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศจึงต้องคำนึงถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตและพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามาในระบบ ซึ่งตามร่างแผนพีดีพี 2018 ภารกิจของ กฟผ. แบ่งออกเป็น 3 ภารกิจสำคัญ คือ 1.การดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้ารายภูมิภาค โดยการพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่จะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) สามารถเริ่มเดินเครื่องได้รวดเร็ว ปรับการทำงานให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง ควบคู่กับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้มีความเสถียรมากขึ้น เช่น โครงการโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ซึ่งเป็นระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานระหว่างพลังงานแสงอาทิตย์กับน้ำในเขื่อน โดยจะนำร่องในเขื่อนสิรินธร จำนวน 45 เมกะวัตต์ โซลาร์เซลล์จะช่วยผลิตไฟฟ้าเสริมพีคในช่วงกลางวัน และโรงไฟฟ้าพลังน้ำจะช่วยผลิตไฟฟ้าเสริมพีคในช่วงกลางคืน รวมถึงยังเป็นต้นแบบการศึกษาเรื่องความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้าจากความไม่เสถียรของพลังงานหมุนเวียนภายในระบบส่งไฟฟ้าด้วย 2.การพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเพื่อเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รองรับการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid Connection) ในภูมิภาค
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมทางด้านเทคนิค กฎระเบียบ ภาษี และการพาณิชย์ เป็นต้น 3.การเตรียมการรองรับพลังงานหมุนเวียน (Grid Modernization) กฟผ. ได้พัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง 2 แห่ง คือ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ขนาด 16 เมกะวัตต์ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์ กำหนดแล้วเสร็จในปี 2563 ถือเป็นเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เพื่อช่วยลดความผันผวนของพลังงานทดแทนและบริหารจัดการสายส่งให้สามารถนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กฟผ. ยังพัฒนาระบบการจัดการพลังงาน (EGAT Micro Energy Management System : EGAT Micro-EMS) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ (Micro grid) ช่วยมอนิเตอร์ในภาพรวมและรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลักไว้
“กฟผ. ในฐานะองค์กรหลักที่ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ พร้อมเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า บริหารจัดการโรงไฟฟ้าหลักให้มีความยืดหยุ่นรองรับความผันผวนในระบบไฟฟ้า เชื่อมโยงระบบส่ง ควบคู่การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้มีความเสถียร เสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในราคาที่เป็นธรรมและสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก”