กรมการค้าภายใน เสนอควบคุมการค้าหน้ากากอนามัยป้องกันโรคโควิด-19 สกัดการส่งออกและเร่งกระจายในประเทศให้ถึงมือผู้มีความเสี่ยงอย่างทั่วถึง

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ได้ชี้แจงว่า จากการที่รัฐบาลมอบหมายให้กรมการค้าภายในเข้ามาดูแลเกี่ยวกับการจัดหาหน้ากากอนามัยให้กับชาวไทยอย่างทั่วถึง ในราคาที่เป็นธรรม เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการป้องกันการติดต่อของโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. 2563
เป็นต้นมา กรมการค้าภายใน ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ภารกิจที่ได้รับมอบหมายบรรลุผล โดยได้เสนอให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตส่งออกสำหรับผู้ที่ต้องการส่งออก ตั้งแต่ 500 ชิ้นขึ้นไป ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และตัวแทนจำหน่าย แจ้งปริมาณการเก็บสต๊อก ราคาซื้อขาย ต้นทุนการผลิต ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 2563 เป็นต้นมา และยังได้กำหนดกติกาให้ผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้จัดสรรหน้ากากอนามัย จำหน่ายให้กับศูนย์บริหารจัดการสินค้าหน้ากากอนามัยของกรมการค้าภายใน จัดการในการกระจาย 5.55 ล้านชิ้น ซึ่ง กกร. มีคำสั่งให้ตั้งขึ้นมา โดยกระจายให้องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาล จำนวน 3.5 ล้านชิ้น ร้านธงฟ้าลดค่าครองชีพ 1.8 ล้านชิ้น การบินไทย 1.8 แสนชิ้น สมาคมร้านขายยา 1.75 แสนชิ้น รวมเดือน ก.พ. 2563 12 ล้านชิ้น สำหรับในเดือน มี.ค. 2563 จะมีหน้ากากอนามัยเข้ามาในศูนย์ฯ อีกไม่น้อยกว่า 15 ล้านชิ้น เพื่อกระจายให้ทั่วถึง รวมถึงให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ฉวยโอกาสค้ากำไรเกินควรและฝ่าฝืนประกาศที่ กกร. กำหนด อย่างจริงจังและเด็ดขาด ความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องการแจ้งปริมาณการครอบครองหน้ากากอนามัย
มีผู้แจ้งตามกำหนดเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2563 มี 2 ราย จำนวน 2.17 แสนชิ้น กรมการค้าภายในจึงออกหมายเรียกให้ผู้ที่ครอบครองหน้ากากอนามัยเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง และส่งทีมงานออกตรวจสต๊อก ปรากฏว่าถึงวันที่ 20 ก.พ. 2563 มีผู้แจ้งสต๊อกเพิ่มขึ้นเป็น 74 ราย มีสต๊อกรวม 28 ล้านชิ้น เป็นการแสดงให้เห็นว่ามีหน้ากากอนามัยป้อนตลาดได้มากขึ้น
การควบคุมการส่งออกมีผู้ค้าขออนุญาตส่งออกรวม 100 ราย เป็นจำนวนที่ขอส่งออก 32.68 ล้านชิ้น คณะอนุกรรมการพิจารณาการขออนุญาตการส่งออกซึ่งหน้ากากอนามัยที่กรมการค้าภายใน
ได้พิจารณาที่จะให้ส่งออก ส่งออกได้เฉพาะหน้ากากที่มีคุณลักษณะหรือสเปคที่ไม่ได้ใช้ในเมืองไทย
มีข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์ของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ว่าจ้างผลิต และมีความพร้อมในการผลิตในสเปคที่ใช้ในเมืองไทยที่ป้อนให้ตลาดเมืองไทยเป็นลำดับแรก ถึงขณะนี้มีผู้ที่ได้รับการพิจารณาอนุญาตแล้ว 1 ราย จำนวน 2.1 ล้านชิ้น โดยผู้ส่งออกยอมรับเงื่อนไขที่จะผลิตให้ผู้ซื้อในประเทศจำนวนไม่น้อยกว่า 7.2 ล้านชิ้น ส่วนผู้ส่งออกรายอื่นยังไม่อนุมัติให้ส่งออกได้

สืบเนื่องจากการเข้มงวดการขออนุญาตส่งออกหน้ากากอนามัยจึงมีผู้ที่พยายามแยก การส่งออกไม่ให้ถึง 500 ชิ้น เพื่อหลีกเลี่ยงเงื่อนไขการขออนุญาต คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการจึงมีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2563 ห้ามการส่งออกหน้ากากอนามัยยกเว้นได้รับการอนุญาตจากเลขานุการ กกร. ตามความเห็นของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ตามที่ กกร. ตั้งขึ้น โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 2563 เป็นต้นไป โดยการนำออกได้มีได้กรณีเดียวคือ การนำไปใช้เป็นการส่วนตัว จำนวนไม่เกิน 30 ชิ้น/คน/ครั้ง ยกเว้นคนป่วยที่มีใบรับรองแพทย์ให้นำติดตัวได้ไม่เกิน 50 ชิ้น สำหรับกรณีประเทศเพื่อนบ้าน หากมีความจำเป็นใช้ให้ติดต่อกระทรวงการต่างประเทศโดยตรง โดยขอให้มีคำขอระบุการขออนุญาตส่งออกในจำนวนที่ต้องการในนามของรัฐบาลโดยตรงกรมฯ จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการอนุญาตการส่งออกซึ่งหน้ากากอนามัยซึ่งมีผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ร่วมพิจารณา สำหรับการจัดสรรเพื่อให้ผู้ใช้มีปริมาณเพียงพอ ราคา เป็นธรรม ซึ่งกรมฯ ได้แจ้งผู้ครอบครองหน้ากากอนามัยให้จัดสรรให้กับศูนย์บริหารจัดการฯ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ในปริมาณที่ครอบครอง โดยกำหนดเวลาให้จัดสรรได้ภายในวันที่ 21 ก.พ. 2563 หากเลยวันนี้ไปแล้วจะฝ่าฝืนกฎหมาย กกร. มาตรา 25 (9) มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอเตือนให้ผู้ครอบครองปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว

Related Posts

Scroll to Top