นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวถึง ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี จะมีเทศกาลสำคัญของประชาชนชาวไทย คือ เทศกาลลอยกระทง หรือเทศกาลยี่เป็ง โดยได้สั่งการให้ ทุกท่าอากาศยานในสังกัด ร่วมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงมาตรการควบคุมและป้องกันอันตรายร้ายแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อการบินและอากาศยาน พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้ระมัดระวังในการปล่อยโคมลอย โคมควัน หรือวัตุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศอย่างเคร่งครัด ในช่วงเทศกาลดังกล่าว ดังนี้
มาตรการควบคุมและป้องกันอันตรายจากการปล่อยโคมลอย โคมควัน ช่วงเทศกาลลอยกระทง
- วัสดุที่ใช้ทำโคมลอยและโคมควัน ต้องทำจากวัสดุธรรมชาติ ขนาดของโคมต้องมีปริมาตร ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร ความสูงไม่เกิน 140 เซนติเมตร และห้ามใช้กระดาษสีเดียวกับท้องฟ้า
- การจุดและการปล่อย ให้ปล่อยต่อ 1 สถานที่ ใน 1 วัน และปล่อยได้ไม่เกิน 100 โคม
- วัสดุส่วนที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อทำให้อากาศร้อน ที่บรรจุในตัวโคมเพื่อให้โคมยกตัวลอย ควรทำจากกระดาษชุบเทียน ขี้ผึ้ง หรือพาราฟิน และระยะเวลาการลอยตัวอยู่ในอากาศของโคมลอย ไม่ควรเกิน 8 นาที
- พื้นที่ห้ามปล่อยโคมลอย โคมควัน คือ บริเวณที่เสี่ยงตามแนวขึ้น-ลง ของอากาศยาน และพื้นที่เสี่ยง ต่อการเกิดอัคคีภัย เช่น บริเวณสายไฟฟ้า พื้นที่ที่มีหญ้าแห้ง คลังน้ำมัน กองขยะ บ้านเรือนและชุมชน
- การขออนุญาตปล่อยโคมลอย โคมควัน ผู้ที่จะปล่อยต้องประสานงานแจ้งกับท่าอากาศยาน หรือศูนย์ควบคุมการบินใกล้บริเวณพื้นที่ที่จะปล่อยล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน โดยให้แจ้งรายละเอียด วัน เวลา และสถานที่ปล่อย พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้อย่างน้อย 2 หมายเลข และให้ระบุจำนวนโคม ที่จะปล่อยให้ชัดเจน โดยกรมท่าอากาศยานจะออกประกาศผู้ทำการในอากาศ (NOTAM) แจ้งเตือนให้นักบิน เพิ่มความระมัดระวังในการทำการบิน ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย
- ผู้ควบคุมการปล่อยต้องแจ้งให้หอบังคับการบินทราบทันที ก่อนจะทำการปล่อยโคมลอยหรือโคมควัน และต้องเฝ้าฟังการติดต่อสื่อสารจากหอบังคับการบินตลอดระยะเวลาที่ทำการปล่อย และแจ้งให้หอบังคับการบินทราบทันทีเมื่อเสร็จสิ้นการปล่อยโคมลอยหรือโคมควัน
ทั้งนี้ อธิบดีกรมท่าอากาศยานได้กำชับให้ท่าอากาศยานในสังกัด ให้เพิ่มการดูแลอำนวยความสะดวก แก่ผู้โดยสารในแต่ละท่าอากาศยานให้มากขึ้นในช่วงเทศกาลลอยกระทงที่จะถึงนี้ โดยให้ตระหนักถึงอันตราย ต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่น โดยมุ่งเน้นความปลอดภัยในการเดินอากาศเป็นสำคัญ และให้ดำเนินการ เฝ้าระวังในพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงต่อแนวร่อนของอากาศยาน ที่ทำการขึ้น-ลง