ก.อุตสาหกรรม เร่งผลักดัน Bio Hub ใน 3 จังหวัดเพิ่มเติม

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 และรับทราบการเตรียมการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่เพิ่มเติมตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งผลักดันให้เกิด Bio Hub ใน จ.ฉะเชิงเทรา จ.อุบลราชธานี และ จ.ลพบุรี เพิ่มเติม เพื่อให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub ของอาเซียนโดยเร็ว

ทั้งนี้ ในส่วนของความก้าวหน้าการดำเนินงานดังกล่าว ประกอบด้วย มาตรการขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน ซึ่งกระทรวงฯ กำลังเร่งปรับปรุงประกาศ เรื่องการให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุก ท้องที่ได้ ปรับปรุง พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทรายให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นได้ และเพิ่มประเภทกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพ ให้สามารถตั้งโรงงานได้ ส่วนมาตรการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ ขณะนี้ได้เกิดมูลค่าการลงทุนแล้ว 9,740 ล้านบาท ในพื้นที่ ECC ในส่วนของการผลิตน้ำยาล้างไต พลาสติกชีวภาพ และการผลิตเมทิลเอสเทอร์ และคาดว่าจะเกิดมูลค่าการลงทุนในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ อีก 41,000 ล้านบาท ในปี 2564

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงการคลัง เร่งออกมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก พร้อมการยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ร่วมกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center: ITC) ด้วย

“กระทรวงฯ ได้ดำเนินการขยายผลมาตรการในเชิงพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)ในส่วนภูมิภาคที่มีศักยภาพ โดยในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ) ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนกลุ่มจังหวัดฯ และจัดทำโมเดลเกษตรอุตสาหกรรมในการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบเกษตรเป็นสินค้าอุตสาหกรรม โดยเป็นการทำงานเชิงรุกมีการติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนกลุ่มจังหวัดให้เป็นคลัสเตอร์ต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ และการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ ครบวงจร เพื่อยกระดับเป็น Bio Hub ตามนโยบายรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้แก้ไขปรับสีผังเมืองของพื้นที่โรงงานจากพื้นที่สีเขียวเป็นสีม่วงแล้ว ทำให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนการผลิตผลิตภัณฑ์ ชีวภาพ เช่น อาหารทางการแพทย์ สารสกัดจากพืช ผัก และสมุนไพรอินทรีย์ และกำลังผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ขนาดพื้นที่ 2,313 ไร่ 215 ตารางวา มูลค่าการลงทุน 2,990 ล้านบาท ใน ต.นากระแซง อ.เดชอุดม ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ส่วนที่จังหวัดฉะเชิงเทรา กระทรวงฯ กำลังเร่งผลักดันโครงการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ EEC ของภาคเอกชน จำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบลูโอลิโอเทค ซิตี้ ขนาด 998 ไร่ มูลค่าการลงทุน 12,500 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ ต.สองคลอง อ.บางปะกง มีแผนการลงทุนผลิตอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ที่เป็นอุตสาหกรรมนวัตกรรมใหม่ และ 2) โครงการไบโอ ฮับ เอเซีย ขนาด 3,500 ไร่ มูลค่าการลงทุน 50,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม มีแผนการลงทุนผลิต Bio Energy, Bio Refinery, Pharmaceutical & Cosmetics, Food & Feed for future, Social Enterprise and Tourism, R&D

Innovation Center รวมถึงการพัฒนาระบบบริหารจัดการปลูกมันสำปะหลังแบบครบวงจรพร้อมตลาดโรงงานอุตสาหกรรมรองรับ (BioMatlink) เพื่อรวบรวมมันสำปะหลังจากเกษตรกร ผ่านศูนย์รวบรวมรับซื้อ ตรวจสอบคุณภาพ แปรรูป เก็บสต๊อก และกระจายสินค้า

ที่จังหวัดลพบุรี กระทรวงฯ เร่งผลักดันให้ภาคเอกชนร่วมกับกลุ่มเกษตรกรจัดทำแผนการลงทุนโครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ ขนาด 2,500 ไร่ มูลค่าการลงทุน 32,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ ต.หนองเมือง ต.ดอนดึง อ.บ้านหมี่ มีแผนการลงทุนผลิตอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงด้านการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรและพลังงานทดแทน ได้แก่ เอทานอลจากน้ำอ้อย เชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพ และสารเคมีชีวภาพ เช่น กรดแลกติก ยีสต์และเอนไซม์ต่าง ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมการจัดการเกษตรขั้นสูง เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกรโดยสนับสนุนหลักการเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farm)”

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า การดำเนินงานในระยะต่อไป กระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 จะเร่งดำเนินการในแต่ละมาตรการฯ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการประชาสัมพันธ์มาตรการดังกล่าว เพื่อให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่มีศักยภาพของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการผลักดันโครงการลงทุนของภาคเอกชนในการจัดตั้ง Bio Hub ในพื้นที่ใหม่ ๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้เกิดรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) กลไกสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในอนาคต (New S-Curve) ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไป นอกจากนี้กระทรวงฯ จะผลักดันการขยายผลมาตรการฯ เชิงพื้นที่ ในโครงการลงทุน Bio Hub ตามความพร้อมของภาคเอกชนใน จ. ฉะเชิงเทรา อุบลราชธานี และลพบุรี เพิ่มเติม จากพื้นที่นำร่องเดิมในเขต EEC เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์และกำแพงเพชร) และเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (ขอนแก่น) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและภูมิภาคเร่งดำเนินการตามระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งจะทำให้เกิดทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) อย่างเป็นรูปธรรม

Related Posts

Scroll to Top