นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกตรวจพบการประกาศขายป้ายแดง พร้อมสมุดคู่มือประจำรถ และประกาศการรับทำป้ายแดงในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็น “ป้ายแดงปลอม” ที่มิได้ออกโดยกรมการขนส่งทางบก โดยป้ายแดงที่ถูกกฎหมาย กรมการขนส่งทางบกจะออกให้กับบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถที่ได้รับใบอนุญาต เพื่อใช้ติดรถและนำรถไปส่งให้ลูกค้า หรือนำรถไปซ่อมแซมเท่านั้น ไม่ใช่ป้ายทะเบียนส่วนบุคคลที่ผู้ใดจะนำไปจำหน่ายต่อหรือผลิตขึ้นเองได้ ดังนั้น จึงขอย้ำเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้อป้ายแดงที่มีการประกาศขายในสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าว เนื่องจากการนำป้ายแดงปลอมไปติดรถ เจ้าของรถจะมีความผิดฐานใช้เอกสารทางราชการปลอม ตามกฎหมายอาญา มีโทษถึงขั้นจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 5 ปี และมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ทั้งนี้ เจ้าของรถสามารถสังเกตป้ายแดงที่ออกให้โดยกรมการขนส่งทางบก โดยตัวแผ่นป้ายต้องมีตัวอักษร ขส ลักษณะนูนที่มุมด้านล่างขวา และลายน้ำ ปรากฏในแผ่นป้ายทะเบียนรถ
รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการขนส่งทางบกมีมาตรการป้องกันและตรวจสอบป้ายแดงปลอม โดยได้จัดทำระบบบริการใบอนุญาตเครื่องหมายพิเศษ(ป้ายแดง)สำหรับบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถที่ได้รับใบอนุญาตบันทึกข้อมูลการใช้ป้ายแดงเมื่อมีการส่งมอบรถยนต์ให้กับผู้ซื้อ เพื่อใช้ตรวจสอบสถานะการครอบครองป้ายแดงแบบออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนผู้ใช้รถป้ายแดงทราบ เพื่อเน้นย้ำถึงวัตถุประสงค์การใช้งานป้ายแดงและลักษณะป้ายแดงที่ถูกต้อง ซึ่งการใช้ป้ายแดงที่ถูกต้องนั้น จะต้องใช้คู่กับสมุดคู่มือประจำรถ โดยกรมการขนส่งทางบกอนุโลมให้ใช้ป้ายแดง
เป็นการชั่วคราวไม่เกิน 30 วัน นับจากวันรับรถ การใช้รถป้ายแดงเป็นระยะเวลานาน โดยไม่นำรถไปจดทะเบียนและเสียภาษีประจำปีให้ถูกต้อง เจ้าของรถถือว่ามีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ฐานใช้รถโดยไม่จดทะเบียน มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งหากรถเกิดอุบัติเหตุ หรือถูกโจรกรรมรถยนต์ จะยากต่อการติดตามตรวจสอบรถ จึงแนะนำให้ผู้ที่ซื้อรถใหม่เร่งนำรถมาจดทะเบียนและเสียภาษีรถประจำปีให้ถูกต้อง ณ กรมการขนส่งทางบก หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดโดยเร็ว ซึ่งปัจจุบันการจดทะเบียนรถใหม่ เจ้าของรถจะได้รับแผ่นป้ายทะเบียนไปติดรถได้ทันทีในวันที่จดทะเบียน โดยยื่นคำร้องขอจดทะเบียน พร้อมหลักฐานการได้มาของรถ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หลักฐานการทำ พ.ร.บ. และการนำรถเข้ารับการตรวจสภาพที่กรมการขนส่งทางบก หรือ สำนักงานขนส่งจังหวัดที่ประสงค์จดทะเบียนรถ