กรมการค้าต่างประเทศเผยมูลค่าการใช้สิทธิ FTA และ GSP 5 เดือนปี 62 มีมูลค่า 30,668.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.76% มีอัตราการใช้สิทธิ 79.23% โดยการใช้สิทธิ FTA มีมูลค่า 28,503.61 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.75% อาเซียนนำโด่งใช้สิทธิสูงสุด ส่วนการใช้สิทธิ GSP มีมูลค่า 2,165.25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.25% สหรัฐฯ ยังครองอันดับหนึ่งอย่างต่อเนื่อง จับตาสงครามการค้าฉุดเป้าหมายการใช้สิทธิปี 62 พร้อมแนะผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จาก FTA อาเซียน-จีน ส่งสินค้าไปขาย
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม-พฤษภาคม) มีมูลค่าการใช้สิทธิรวม 30,668.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.76% มีอัตราการใช้สิทธิ 79.23% ของการได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด แยกเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA จำนวน 12 ฉบับ (ไม่รวมความตกลงอาเซียน-ฮ่องกง) คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 28,503.61 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 80.40% ของมูลค่าการส่งออกรวมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง เพิ่มขึ้น 1.75% และการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP จำนวน 4 ระบบ ประกอบด้วย สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ (ญี่ปุ่นตัดสิทธิการให้ GSP ไทยตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2562) มีมูลค่า 2,165.25 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการใช้สิทธิ 66.43% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ขยายตัว 18.25%
ส่วนของการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP พบว่า สหรัฐฯ ยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือประมาณ 92% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด มีมูลค่า 1,987.73 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิ 74.85% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 2,655.78 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.86% โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง เครื่องดื่มอื่นๆ เลนส์แว่นตา และแว่นตาอื่นๆ
นายอดุลย์กล่าวว่า การใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 5 เดือน ที่มีมูลค่ารวม 30,668.86 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 37.85% ของเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่ตั้งไว้ที่ 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% โดยจากนี้ไป ต้องจับตาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก เช่น ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว รวมถึงค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่ามากขึ้น เป็นต้น เพราะปัจจัยเหล่านี้อาจจะส่งผลต่อเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในปี 2562 ได้
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้ติดตามและศึกษาสถานการณ์สงครามการค้าดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนที่อาจจะเป็นโอกาสและความเสี่ยงกับการค้าของไทย โดยผลจากการศึกษาเบื้องต้น พบว่า มีโอกาสจาก FTA กรอบอาเซียน-จีน (ASEAN – China Free Trade Area: ACFTA) จึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้โอกาสในการขยายตลาดและขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีศุลกากรขาเข้าให้กับสินค้าไทยในการส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีน
“แม้ภาพรวมการค้าทวิภาคีระหว่างไทย-จีนในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ของปี 2562 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ 3.38% โดยการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนในช่วงเวลาดังกล่าวมีมูลค่า 11,599.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.73% แต่สถิติการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่กรมฯ ส่งเสริมกลับมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้ส่งออกไทยมีสัดส่วนการขอใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ ACFTA สูงถึง 98.73% ของมูลค่าการส่งออกรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ถึง 83.87% โดยคิดเป็นมูลค่าส่งออก7,947.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.73% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีการขอใช้สิทธิฯ 7,049.88 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่มาขอใช้สิทธิฯ จาก FTA กรอบอาเซียน-จีน โดยหากพิจารณาจากสถิติการขอ Form E กับกรมฯ เพื่อนำไปใช้สิทธิประโยชน์ลด/ยกเลิกภาษีนำเข้าที่จีนที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 คือ กลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผลไม้ได้แก่ ทุเรียนสด มังคุดและมะม่วง ลำไย และมะพร้าว (ทั้งกะลา) นอกจากนี้ยังมีสินค้าเกษตรอื่น อาทิ เนื้อและเครื่องในไก่แช่แข็ง และกุ้งแช่แข็ง ตามลำดับ”นายอดุลย์กล่าว
นายอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ ยังเน้นการสร้างเสริมความรู้ให้แก่ผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบ ว่า กรมฯ มีการควบคุมการนำเข้าและป้องกันปัญหาสินค้าทะลัก (พ.ร.บ.2522) และเตรียมการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าได้ หากมีการทะลักของสินค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำร้องขอให้กรมฯ พิจารณาใช้มาตรการดังกล่าวได้หากอุตสาหกรรมภายในได้รับผลกระทบ รวมทั้งได้เฝ้าระวังและติดตามการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทยโดยมีการหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการออก C/O ทั่วไป พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำระบบเตือนภัยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเสริมความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการไทย กรมฯ ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดสัมมนาให้ความรู้กับผู้ประกอบการ ภายใต้หัวข้อ “มหากาพย์สงครามการค้า…เมื่อพญาอินทรีไล่ขยี้พญามังกร” ในวันอังคารที่ 13 สิงหาคม 2562 ณ ห้องเมย์แฟร์ แกรนด์ บอลรูม โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 และเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th
FUJIFILM Business Innovation ผู้ให้บริการโซลูชันสำนักงานและเครื่องพิมพ์ ประกาศทิศทางกลยุทธ์ไตรมาส 3 ปี 2024 ภายใต้แนวคิด "Make a Leap to the New…
Solar D เปิดตัว “หุ่นยนต์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์” นวัตกรรมสุดล้ำ Light Speed ติดตั้งเร็วกว่าแรงงานคนถึง 10 เท่า! ชูจุดเด่นลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ หนุนเป้าหมายเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2569…
วันนี้ (26 พฤศจิกายน 2567) นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม…
LINE GAME ส่งเกมมือถือตัวใหม่ล่าสุด "LINE ไอเดิล เรนเจอร์" เกมแนว Idle RPG เอาใจเกมเมอร์สายชิล เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม ทะยานขึ้นสู่อันดับ…
มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ ร่วมกับสภากาชาดไทย และภาคีเครือข่ายจิตอาสา ร่วมมอบความอบอุ่น ส่งต่อความห่วงใยผู้ยากไร้และด้อยโอกาสในกิจกรรม “หนาวนี้ทำดีเพื่อพ่อ” จ.กาญจนบุรี วันนี้ (26 พ.ย. 67) นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ได้ร่วมกิจกรรมกับสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย…
เตรียมตัวพบกับ realme C75 สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ล่าสุดที่ไม่ได้มาเล่นๆ พร้อมทลายทุกขีดจำกัดของความทนทาน ด้วยมาตรฐานการกันน้ำกันฝุ่นระดับ IP69 เจ้าแรกและเจ้าเดียวในเซกเมนต์ พร้อมชูโรงด้วยดีไซน์สุดแข็งแกร่ง การันตีคุณภาพระดับโลกด้วยใบรับรองจาก TÜV Rheinland เปิดตัวอย่างเป็นทางการ 3 ธันวาคมนี้…