“คนร. มอบนโยบายรัฐวิสาหกิจตอบโจทย์พลิกโฉมประเทศไทย ดันแก้ไขปัญหา อสมท. และ ขสมก. บริษัทในเครือตอบโจทย์สังคมและผลตอบแทน”

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่ง คนร. ได้พิจารณาในเรื่องต่างๆ ดังนี้

  1. เห็นชอบหลักเกณฑ์การเสนอกรอบนโยบายการพัฒนาและทิศทางการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในกำกับ (กรอบนโยบายฯ) เพื่อให้กระทรวงเจ้าสังกัดใช้ในการจัดทำกรอบนโยบายฯ สำหรับประกอบการจัดทำแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566 – 2570 โดยกรอบนโยบายฯ จะกำหนดนโยบาย ทิศทาง และบทบาทของรัฐวิสาหกิจ
    ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้ง ให้มีการกำหนดให้กระทรวงเจ้าสังกัด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สคร. ร่วมกำหนดภารกิจและบทบาทหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจให้ตอบโจทย์ในการพลิกโฉมประเทศภายใต้ BCG Model การพัฒนาด้านนวัตกรรม และการดำเนินกิจการภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
  2. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (บมจ. เอ็นที) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (อสมท) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
    และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยได้มีนโยบายที่สำคัญดังนี้ 1) กรณี ขสมก. ขอให้กระทรวงคมนาคม เร่งดำเนินการตามแผนในส่วนที่ดำเนินการได้ทันทีก่อน เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนและลดปัญหาขาดทุนของ ขสมก. 2) กรณี บมจ. เอ็นที ขอให้จัดทำแผนแนวทางการรับมอบและการบริหารดาวเทียมและลูกค้า
    ในรายละเอียดที่ชัดเจน เพื่อรักษาผลประโยชน์ภาครัฐและการให้บริการที่ต่อเนื่อง 3) กรณี อสมท ซึ่งได้จัดทำแผนการดำเนินงานระยะสั้นที่ชัดเจนแล้วและผลประกอบการสำหรับรอบครึ่งปี 2564 กลับมามีกำไร คนร. ขอให้ อสมท จัดทำแผนเชิงรุกที่มุ่งเน้นการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ และใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มี และ 4) กรณี ธพว. ให้ขยายวงเงินสินเชื่อต่อรายจากไม่เกิน 15 ล้านบาทเป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs
     3. เห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับในการจัดตั้งบริษัทในเครือ 2 แห่ง ได้แก่
    3.1 การจัดตั้งบริษัทในเครือของบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) เพื่อดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกวางจิ ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจของ EGATi
    และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมทั้งสร้างรายได้เข้าประเทศไทย
    3.2 โครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย “บ้านเคหะสุขประชา” ภายใต้แนวคิด “บ้านเคหะสุขประชา = บ้านพร้อมอาชีพ” และให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ดำเนินโครงการตามแนวทางการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน โดยคำนึงถึงการแข่งขันอย่างเป็นธรรม รักษาผลประโยชน์ของรัฐ และไม่ขัดข้องหาก กคช. ประสงค์จะจัดตั้งบริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) ในรูปแบบบริษัทเอกชน โดยให้กำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทในเครือให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง และไม่เป็นภาระกับ กคช. หรือภาครัฐในระยะยาวด้วย นอกจากนี้ คนร. ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินการทางวินัยกรณีพนักงานรัฐวิสาหกิจพ้นสถานะพนักงานไปแล้ว เพื่อรักษาผลประโยชน์ของภาครัฐและป้องปรามพนักงานอื่นมิให้กระทำความผิด โดยให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการดำเนินการลงโทษทางวินัยโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม รวมถึงพิจารณาปรับปรุงระเบียบข้อบังคับภายในของรัฐวิสาหกิจเพื่อรองรับกรณีดังกล่าวด้วย โดยเทียบเคียงกับกรณีของข้าราชการพลเรือนซึ่งยังสามารถลงโทษผู้กระทำผิดทางวินัยได้แม้จะออกจากราชการแล้ว

Related Posts

Scroll to Top