นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมเปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
- มาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักการมาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (Exchange) และการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งอนุญาตให้หักผลขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลใน Exchange ออกจากกำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลใน Exchange ได้
“ประเด็นนี้จะทำให้การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของนักลงทุนในประเทศไทยเกิดขึ้นใน Exchange ของประเทศไทยซึ่งมีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากอยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและทำให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินในอนาคตที่พร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล - นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร ได้ให้ความสำคัญแก่การส่งเสริมอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินในอนาคตที่พร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลจึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 2 ฉบับ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลใน Exchange และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยตามโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับการใช้งานภาคประชาชน โดยมีหลักการสรุปได้ ดังนี้
- ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลใน Exchangeทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
- ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (Retail CBDC) ตามโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับการใช้งานภาคประชาชน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 รวมทั้งได้ออกร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเฉพาะที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เป็นจำนวนเท่ากับผลขาดทุนจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลที่เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกัน ทั้งนี้ เฉพาะผลประโยชน์และผลขาดทุนจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลใน Exchange ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับ (14 พฤษภาคม 2561) เป็นต้นไป
“การบรรเทาภาระภาษีสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น จะช่วยให้ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และได้รับความเป็นธรรมในการเสียภาษีมากขึ้น รวมทั้งช่วยให้การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของนักลงทุนที่เกิดขึ้นใน Exchange ของประเทศไทย มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการใช้เงินดิจิทัลในอนาคตต่อไป” - มาตรการยกเว้นภาษีการระดมทุนใน Startup ไทยผ่าน Venture Capital
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักการมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ให้สิทธิประโยชน์ ทางภาษีสำหรับการลงทุนใน Startup ไทยที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งการลงทุนโดยตรง และการลงทุนโดยอ้อมผ่าน Venture Capital ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ Startup ไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น เสริมสร้างการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืนและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า “กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรได้ให้ความสำคัญแก่การระดมทุนของวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)) ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการลงทุนใน Startup ไทย ที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามที่คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายประกาศกำหนด โดยมีหลักการสรุปได้ ดังนี้ - ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศสำหรับกำไรจากการขายหุ้นใน Startup
- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ CVC ทั้งไทยและต่างประเทศ และ PE Trust ต่างประเทศสำหรับกำไรจากการขายหุ้นใน Startup
- ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินใด้นิติบุคคลให้แก่ผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศสำหรับกำไรจากการขายหุ้นใน CVC ไทยและจากการที่ CVC ไทยเลิกกิจการ และกำไรจาก การขายหน่วยทรัสต์ใน PE Trust ไทยและจากการที่ PE Trust ไทยเลิกกิจการ โดย CVC และ PE Trust ไทยดังกล่าวเป็น CVC และ PE Trust ที่ลงทุนใน Startup สำหรับการลงทุนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามข้อ 1 – 3 ต้องเป็นการลงทุนใน Startup ไทยที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย และต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ และมีรายได้จากอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดใน 2 รอบระยะเวลาบัญชีก่อนการขายหุ้น
- ผู้ลงทุนต้องถือหุ้นหรือหน่วยทรัสต์ไม่น้อยกว่า 24 เดือนก่อนการขายหุ้นหรือหน่วยทรัสต์
- CVC ไทยและ PE Trust ไทยต้องมีทุนไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาทและจดแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- ระยะเวลาการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีคือ ตั้งแต่วันถัดจากวันที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2575”
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวสรุปว่า กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรได้ออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ Startup ไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น และง่ายขึ้น ทั้งยังส่งผลดีทำให้เศรษฐกิจเกิดการขยายตัวมากขึ้น ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ ได้คาดการณ์ว่าจากมาตรการภาษีนี้จะทำให้ภายในปี 2569 จะมีเงินลงทุนใน Startup ไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.2 แสนล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการ Startup และประชาชน รวมถึงเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย” - มาตรการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับการนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาไปผลิตกระแสไฟฟ้า
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการทางภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับการนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาไปผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 โดยจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ทั้งนี้ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยกว่าร้อยละ 60 ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ (NG) ซึ่งราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้น้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ ในปัจจุบันน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามีภาระภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 3.44 บาทต่อลิตร และ 0.64 บาทต่อลิตร ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต เห็นควรใช้มาตรการทางภาษีมาช่วยลดต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 โดยเสนอให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
“มาตรการภาษีดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 รวมระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ราคา ก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกจะปรับตัวลง และจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาดังกล่าวจะส่งผลให้ราคาค่าไฟมีแนวโน้มที่จะไม่ปรับตัวสูงขึ้น โดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ภาษีสรรพสามิตเนื่องจากในสถานการณ์ปกติจะไม่มีการนำน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตามาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าจึงไม่มีรายได้ภาษีสรรพสามิตในส่วนนี้”
- การขยายระยะเวลายกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่มีความจำเป็นเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกาการขยายระยะเวลายกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่มีความจำเป็นเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565 จำนวน 3 ฉบับ ดังนี้
4.1 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีสาระสำคัญในการยกเว้นอากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อรักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ว่าจะอยู่ในพิกัดประเภทใด ตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด
4.2 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มีสาระสำคัญในการยกเว้นอากรสำหรับสินค้าหน้ากากอนามัย
4.3 ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นหน้ากาก มีสาระสำคัญในการยกเว้นอากรสำหรับวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตหน้ากากอนามัย
ทั้งนี้ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวเพิ่มเติมว่า การยกเว้นอากรสำหรับประกาศกระทรวงการคลังทั้ง 3 ฉบับข้างต้น ได้มีการเริ่มการให้สิทธิมาตั้งแต่ มีนาคม 2563 และมีการขยายระยะเวลาการให้สิทธิเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่การให้สิทธิจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2565 นี้ สำหรับของที่มีการยกเว้นอากรจะมีอัตราอากรอยู่ระหว่าง 5 – 20%
“การขยายระยะเวลายกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่มีความจำเป็นดังกล่าว เป็นการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีทรัพยากรในการป้องกัน รักษา และวินิจฉัยโรคเพียงพอสำหรับความต้องการใช้ของบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย กลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ และประชาชน เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถดำเนินการรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคม” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในท้ายที่สุด