คลัง ออกโรงชี้แจง “การจัดเก็บภาษีและเงินกองทุนของภาครัฐสัดส่วนเป็นร้อยละ 49 ของราคาน้ำมันต่อลิตร”

ข้อชี้แจง
• ปัจจุบันโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงแบ่งออกเป็น 6 องค์ประกอบ ได้แก่ (1) ราคาหน้าโรงงาน ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ (2) ภาษีสรรพสามิตที่อัตราประมาณ 0.975 ถึง 6.5 บาทต่อลิตร ขึ้นกับประเภทน้ำมัน ซึ่งจัดเก็บบนหลักการด้านสิ่งแวดล้อม (3) ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่นที่ร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต เพื่อเป็นรายได้ท้องถิ่นในการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะแก่ประชาชนในพื้นที่ (4) ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ซึ่งเป็นการจัดเก็บสินค้าเกือบทุกประเภท (5) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จัดเก็บประมาณ -17.6143 ถึง 6.58 บาทต่อลิตร ขึ้นกับประเภทน้ำมัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการรักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ และ (6) ค่าการตลาดซึ่งเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ
• ทั้งนี้ หากพิจารณาจากโครงสร้างราคาน้ำมันจะพบว่า สัดส่วนที่ได้มีการกล่าวอ้างว่า การเก็บภาษีและเงินกองทุนของภาครัฐสูงถึงร้อยละ 45 ของราคาน้ำมันต่อลิตรที่ประชาชนจ่ายนั้น จะพบว่า เป็นการนำสัดส่วนของราคาน้ำมันเบนซินปกติ (ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้ในสัดส่วนที่น้อย และเป็นการใช้สำหรับรถยนต์ที่มีราคาสูง) มาอ้างใช้กับน้ำมันทุกประเภท จะเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เพราะหากเป็นน้ำมันประเภทอื่นเช่น เบนซินแก๊สโซฮอล ดีเซล LPG เป็นต้น สัดส่วนของภาษีและเงินกองทุนจะอยู่ในสัดส่วนเพียงร้อยละ 6 – 23 เท่านั้น และในน้ำมันบางประเภท เช่น เบนซิน 95 E85 และ LPG สัดส่วนการเก็บภาษีและเงินกองทุนติดลบ เนื่องจากได้รับการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมัน
• จากข้อมูลราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564 ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่น เงินนำส่ง/ได้รับอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินนำส่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีการจัดเก็บภาษีและได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตราที่แตกต่างกันตามโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมัน
• ประเภทน้ำมันที่รถยนต์ส่วนใหญ่มีการใช้ ได้แก่ น้ำมันดีเซล มีราคาหน้าโรงงานคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75 ถึง 87 ของราคาขายปลีก ในส่วนของภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่น เงินนำส่ง/ได้รับอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินนำส่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6 ถึง 16 ของราคาขายปลีกเท่านั้น ในส่วนค่าการตลาดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1 – 3 ของราคาขายปลีก และท้ายสุดภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าทุกประเภทที่ร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้า
• สำหรับกลุ่มราคาน้ำมันเบนซิน มีราคาหน้าโรงงานคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56 ถึง 100 ของราคาขายปลีก ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่น เงินนำส่ง/ได้รับอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินนำส่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ -25 ถึง 35 ของราคาขายปลีก ค่าการตลาดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 – 18 ของราคาขายปลีก และภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าทุกประเภทที่ร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้า สำหรับกลุ่มราคา LPG ราคาหน้าโรงงานคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 157 ของราคาขายปลีก ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่น เงินนำส่ง/ได้รับอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินนำส่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ -81 ของราคาขายปลีก เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีการอุดหนุนราคาดังกล่าวอยู่ LPG ค่าการตลาดอยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 17 ของราคาขายปลีกและภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากสินค้าทุกประเภทที่ร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้า
• การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าพลังงานเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นสากล เนื่องจากการบริโภคสินค้าพลังงานสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น การสร้างมลภาวะทางอากาศซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาวะของประชาชนในภาพรวม การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) และสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ตามมา เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้ราคาของสินค้าพลังงานสามารถสะท้อนผลกระทบและต้นทุนที่จะเกิดขึ้นจากการบริโภคสินค้าพลังงานต่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าพลังงานเพิ่มเติม โดยหากวิเคราะห์ในภูมิภาคอาเซียน เกือบทุกประเทศต่างมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าพลังงานแล้วทั้งสิ้น ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าพลังงานของประเทศไทยอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน โดยหากพิจารณาจากราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564 แล้ว อยู่ที่ประมาณ 29 บาทต่อลิตร ในขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 53 บาทต่อลิตร สปป. ลาวอยู่ที่ 31.50 บาทต่อลิตร กัมพูชาอยู่ที่ 30.24 บาทต่อลิตร ฟิลิปปินส์อยู่ 28.69 บาทต่อลิตร เมียนมาอยู่ 26.95 บาทต่อลิตร และมาเลเซีย (ผู้ส่งออกน้ำมัน) อยู่ที่ 17.42 บาทต่อลิตร
• ในด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 10 ของมูลค่าสินค้าและบริการ แต่จัดเก็บจริงที่ร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้าและบริการ ทั้งนี้ เพื่อลดภาระแก่ประชาชน และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้วพบว่า ประเทศไทยมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำที่สุดในภูมิภาค รวมทั้งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่ม OECD จะพบว่า อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยของกลุ่ม OECD สูงกว่าอัตราจัดเก็บจริงชองประเทศไทยเกือบ 3 เท่า หรืออยู่ที่ร้อยละ 19.3 ดังนั้น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้าและบริการ จึงอาจไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนที่สูงเกินกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลก
• การจัดเก็บภาษีทั้งภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐ โดยในปีงบประมาณ 2563 สัดส่วนภาษีสรรพสามิตและภาษี VAT คิดเป็นเกือบร้อยละ 40 ของรายได้รัฐบาลรวม ดังนั้น การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่รัฐบาลจะสามารถนำมาใช้ในการบริหารประเทศและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ ได้ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและการค้าขายและลดต้นทุนการขนส่ง การดำเนินมาตรการส่งเสริม SMEs การดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 การให้บริการด้านสาธารณสุข เป็นต้น

Related Posts

Scroll to Top