นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนประจำเดือนมกราคม 2565 และแผนงานการจัดมหกรรมการค้าชายแดนปี 2565 พร้อมด้วยนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ที่ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตัวเลขการค้าชายแดนและผ่านแดนเดือนมกราคม 2565 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ตัวเลขการค้ารวม มูลค่า 141,072 ล้านบาท +9.49% โดยเป้าหมายทั้งปี 65 คือ +5% และยังเกินเป้าอยู่ สำหรับประเทศมาเลเซีย มูลค่ารวมทั้งนำเข้าและส่งออก 30,549 ล้านบาท +14.26 % กัมพูชา มูลค่ารวม 17,765 ล้านบาท +17.94% สปป.ลาว มูลค่ารวม 23,456 ล้านบาท +39.86% เมียนมา มูลค่ารวม 18,607 ล้านบาท +36.26%
สิงคโปร์ มูลค่ารวม 10,270 ล้านบาท +15.47% เวียดนาม มูลค่ารวม 8,066 ล้านบาท +36.19% และมีประเทศเดียวที่ลดลงคือ จีน มูลค่ารวม 16,988 ล้านบาท ลดลง 24.34%
ปัจจัยที่ส่งผลให้ตัวเลขการค้ายังเป็นบวกโดยเฉพาะการส่งออกของไทยผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดน 1.การฟื้นตัวในภาคการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ช่วยให้การส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนยังเป็นบวก 2.ค่าเงินบาทยังอ่อนค่าในช่วงเดือนมกราคม 3.ความต้องการสินค้าจำเป็นเพื่อการอุปโภคบริโภคของประเทศเพื่อนบ้าน มีส่วนสำคัญช่วยให้ตัวเลขยังเป็นบวก 4.มาตรการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับเอกชนที่สนับสนุนการค้าชายแดนและผ่านแดน ไม่ว่าจะเป็นเร่งรัดการเปิดด่าน โครงการ”จับคู่กู้เงิน”สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออกที่ช่วยทำให้การส่งออกผ่าน SMEs ดีขึ้น
นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องผลไม้ตนได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์และขอความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ ติดตามการส่งผลไม้ออกไปจีนเป็นการเฉพาะ เพราะจีนเป็นตลาดใหญ่โดยเฉพาะทางบก เพราะช่วงที่ผ่านมาติดขัดในภาคปฏิบัติเนื่องจากนโยบายซีโร่โควิดของจีน ที่มีการตรวจเข้มเรื่องของรถขนผลไม้จากประเทศอื่นเข้าจีน การเจรจาล่าสุดโดยกระทรวงเกษตรฯอยู่ในข้อเสนอที่เราอยากได้ fast track หรือเส้นทางพิเศษส่งผลไม้ไทยเข้าจีน ถ้าเราได้ตรวจสอบเข้มตามมาตรฐาน GAP Plus นอกจากกระบวนการปลูกการผลิตการดูแลรักษาและการตรวจโควิดเข้มก่อนปิดตู้ขนผลไม้และตรวจคนขับรวมทั้งมีเอกสารรับรองที่เห็นชอบร่วมกันจะขอเลนพิเศษส่งผลไม้เข้าด่านทางบกของจีนซึ่งกระทรวงเกษตรฯเป็นผู้รับผิดชอบเจรจา
สำหรับตนไม่นิ่งนอนใจสิ่งที่เราเดินหน้าต่อไป คือ 1.มาตรการเชิงรุกที่กำหนดไว้ 17 + 1 มาตรการ ยังต้องเดินหน้าต่อไปได้กำหนดไว้ตั้งแต่ครึ่งปีที่ผ่านมาขณะที่ผลไม้ยังไม่ออกโดยเฉพาะจันทบุรี 2.การแก้ปัญหาหน้างานยังเป็นเรื่องจำเป็นทำอย่างไรให้การส่งผลไม้ทางบกผ่านด่านเวียดนามเข้าจีนหรือลาวเข้าจีนคล่องตัวที่สุด ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ของเราขอความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศนัดหมายผู้ที่มีอำนาจโดยตรงถ้าเป็นระดับรัฐมนตรีจะดีที่สุดประสานงานอยู่ และตนจะคุยด้วยตนเองถ้านัดหมายได้เมื่อไหร่ตนจะหยิบยกหลายประเด็นที่จะอำนวยความสะดวก เพื่อการส่งออกผลไม้ไปจีนต่อไป และเวลาเดียวกันทางอำนวยความสะดวกการส่งออกผลไม้โดยช่องทางอื่น เช่น ช่องทางเรือและทางอากาศ ซึ่งช่องทางอากาศขณะนี้ได้มีการเจรจากับสายการบินรับผลไม้ไทยโดยค่าระวางหรือคาร์โก้ราคาไม่แพงจนเกินไป อยู่ในขั้นตอนการเจรจาตกลงราคากัน การใช้ช่องทางทั้ง 3 ช่องทาง คือ ทางเรือ ทางบกและทางอากาศเป็นสิ่งที่ทำได้ และโดยข้อเท็จจริงคนไทยจำนวนไม่น้อยยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าช่องทางหลักในการส่งผลไม้ไทยไปจีน คือ ทางบกผ่านด่าน ความจริงไม่ใช่ในช่วงที่ผ่านมาเราใช้เส้นทางเรือเป็นหลักแต่ช่วงหลังตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนจึงหันมาใช้ทางบวกมากขึ้น และมาติดอุปสรรคด่านชายแดนเรื่องซีโร่โควิด ถ้าจะกลับไปใช้เส้นทางเดิมก็สามารถทำได้ ขณะนี้สถานการณ์ตู้คอนเทนเนอร์ผ่อนคลายบ้างแล้ว แต่เราจะส่งออกทุกเส้นทางกระทรวงพาณิชย์จะช่วยทั้งหมดในการดำเนินการทั้ง ทางบก เรือและอากาศในการส่งผลไม้ออกไป
สำหรับการเปิดด่านเพิ่มเติม เช่น ด่านหนองเอี่ยน ตนเร่งรัดอยู่ถ้าเปิดได้จะทะลุทะลวงตัวเลขเพิ่มเติมขึ้นไปได้อีกในการส่งออกไปกัมพูชา และตนมีเป้าหมายในการเปิดเส้นทางส่งออกที่อำนวยความสะดวกให้สินค้าของเราผ่านการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางเชียงของ เชียงแสนให้มีการอำนวยความสะดวกยิ่งขึ้น และรถไฟลาว-จีน จะเป็นอีกเส้นทางหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นนโยบายส่งออกไปจีนซึ่งคาดว่าในเดือนมิถุนายนทางจีนคงพร้อมเรื่องของด่าน และถือว่าเป็นข่าวดีจากการที่ตนมอบเป็นนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์และทูตพาณิชย์ที่รับผิดชอบซาอุดิอาระเบียติดตามการเจรจากับทางการของซาอุฯ ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้วเพื่อให้สามารถส่งออกไก่ไปยังซาอุดิอาระเบียให้ได้ มีความคืบหน้าเป็นลำดับและทำงานร่วมกับเอกชนและสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยโดยใกล้ชิด หลังจากนั้นท่านนายกรัฐมนตรีเดินทางไปสร้างความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียและสถานการณ์
ล่าสุด วานนี้วันที่ 13 มีนาคม 2565 ทูตพาณิชย์ที่รับผิดชอบซาอุดิอาระเบียกับอุปทูตของกระทรวงการต่างประเทศของไทยเดินทางเข้าพบผู้บริหารระดับสูงขององค์การอาหารและยาซาอุฯ หรือ Saudi Food & Drug Authority (SFDA) ได้ข้อสรุปร่วมกันที่เป็นข้อยุติว่าซาอุดิอาระเบียจะอนุญาตให้นำเข้าไก่จากประเทศไทยได้ จาก 11 โรงงานที่เดินทางมาตรวจล่วงหน้าในช่วงปีที่ผ่านมา โดยให้มีผลทันที และ อย.ซาอุดิอาระเบียออกประกาศผ่านเว็บไซต์ของหลังจากการเจรจาทันที ถือเป็นข่าวดีและเป็นผลสำเร็จในการดำเนินการให้สามารถส่งไก่ไปขายยังซาอุดิอาระเบียได้ปัจจุบันซาอุดิอาระเบียนำเข้าไก่ปีละ 5.9 แสนตัน นำเข้าจากบราซิล 70% อีก 30% นำเข้าจากยูเครนและฝรั่งเศส
จากนี้ไทยคงจะมีโอกาสเข้าไปมีส่วนแบ่งการตลาดในซาอุดิอาระเบียได้ ตนมอบหมายให้ท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์และอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศหารือร่วมกับภาคเอกชนและสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเตรียมการและดำเนินการโดยให้คำนึงถึงปริมาณไก่ในการบริโภคในประเทศด้วย รวมทั้งรักษาระดับราคาไก่บริโภคในประเทศเพื่อให้ไม่กระทบราคาและปริมาณไก่ของผู้บริโภคไทยและได้ประโยชน์กับผู้ส่งออกด้วย โดยตัวเลขการส่งออกไก่ของไทยในปี 2564 ไทยส่งออกไก่ไปทั่วโลก 912,900 ตัน มีมูลค่าการส่งออกไก่แช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปรวม 102,529 ล้านบาท กระทรวงพาณิชย์จับมือกับเอกชนเร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุดถือเป็นโอกาสสำคัญของไทยอีกโอกาสหนึ่ง และตนยังมีนโยบายที่จะเปิดตลาดสินค้าอื่นในประเทศซาอุดีอาระเบียเพิ่มเติมด้วย